คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8419/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ใดย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองใช้ยันต่อรัฐได้และยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนจึงยังเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน แต่ผู้ที่ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ย่อมมีสิทธิดีกว่าผู้อื่น
โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท แม้โจทก์จะไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองเพราะเป็นที่สาธารณประโยชน์ แต่โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ย่อมมีสิทธิดีกว่า การที่จำเลยซื้อเฉพาะบ้านของโจทก์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วไม่ยอมรื้อถอนบ้านดังกล่าวออกจากที่ดินพิพาทเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนบ้านออกจากที่ดินพิพาทได้
โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันโจทก์ย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลยและจำเลยไม่ได้แย่งการครอบครองไปจากโจทก์ จำเลยจึงยกความอายุความ 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง มาเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินมีหลักฐาน ภ.บ.ท.6 จำนวน 1 แปลง อยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลควนขนุน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เนื้อที่ 1 ไร่เศษ โจทก์ครอบครองและทำประโยชน์มาตลอดตั้งแต่ปี 2490 จนถึงปัจจุบัน และปลูกบ้านเลขที่ 29 บนที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2538 จำเลยซื้อบ้านเลขที่ 29 ของโจทก์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีศาลจังหวัดพัทลุง โดยซื้อเฉพาะบ้านและต้องรื้อถอนไปอย่างอสังหาริมทรัพย์ หลังจากนั้นจำเลยไปรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินโจทก์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2540 จำเลยฟ้องโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ขัดขวางการรื้อถอนบ้านดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2540 พิพากษาห้ามมิให้โจทก์ขัดขวางการรื้อถอนบ้าน หลังจากนั้นจำเลยไม่ได้เข้าไปรื้อถอนบ้านจนกระทั่งปัจจุบัน ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 29 หมู่ที่ 1 ตำบลควนขนุน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ออกจากที่ดินของโจทก์ และปรับพื้นที่ที่ดินที่ปลูกบ้านให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนบ้านแทนจำเลย โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินตามฟ้องเนื่องจากเป็นที่ดินทุ่งเลี้ยงสัตว์โคกไสม่วง ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์และเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนหรือพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่จำเลยได้ครอบครองที่ดินตามที่โจทก์กล่าวอ้าง คือตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2538 จำเลยครอบครองที่ดินมาโดยตลอด โดยเจตนาเป็นเจ้าของและเปิดเผย คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันชี้สองสถานศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 29 หมู่ที่ 1 ตำบลควนขนุน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยซื้อได้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งในคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 29 หมู่ที่ 1 ตำบลควนขนุน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ออกจากที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หมู่ที่ 1 ตำบลควนขนุน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และปรับที่ดินให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย หากไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์มีอำนาจจัดการรื้อถอนบ้าน โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอในส่วนที่ให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนบ้านพิพาทโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า นายผลัด ศรีอินทร์ บิดาจำเลยฟ้องโจทก์เรียกค่าเสียหายฐานละเมิด ศาลพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าเสียหายแก่นายผลัด ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 218/2535 แต่โจทก์ไม่ยอมชำระค่าเสียหายให้นายผลัดตามคำพิพากษา นายผลัดนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านเลขที่ 29 หมู่ที่ 2 ตำบลควนขนุน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทอันเป็นที่สาธารณสมบัติแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ชื่อทุ่งเลี้ยงสัตว์โคกไสม่วง ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและแผ่นที่เอกสารหมาย ร.1 และ ร.2 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 218/2535 ของศาลชั้นต้น ปรากฏว่าจำเลยซื้อบ้านของโจทก์ดังกล่าวจากการขายทอดตลาดได้ในราคา 65,000 บาท ตามใบรับเงินและประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ถึง จ.4 ตามลำดับ ต่อมาจำเลยฟ้องขับไล่โจทก์และบริวารออกจากบ้านดังกล่าว ศาลพิพากษาให้โจทก์ส่งมอบบ้านให้จำเลย ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1570/2540 แต่จำเลยกลับไม่ยอมรื้อถอนบ้านออกจากที่ดินพิพาท โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านดังกล่าวออกจากที่ดินพิพาท มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันไม่ว่าผู้ใดก็ย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองใช้ยันต่อรัฐได้และปัจจุบันยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนจึงยังเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน แต่ผู้ใดก็ตามที่ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ย่อมมีสิทธิดีกว่าผู้อื่น ซึ่งโจทก์และนางอนัตตา หนูทอง ต่างเบิกความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทโดยทำสวนเงาะ ทุเรียน ทำนา ตั้งแต่ปี 2490 จนถึงปัจจุบันนี้ ต่อมาปี 2538 จำเลยซื้อบ้านของโจทก์จากการขายทอดตลาด แต่จำเลยก็ไม่ยอมรื้อบ้านดังกล่าวไป โจทก์ไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าวอีกแต่เพียงอาศัยที่ดินพิพาททำสวนตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนจำเลยนำสืบว่าหลังจากซื้อที่ดินพิพาทแล้วจำเลยเข้าไปอยู่อาศัยโดยไม่ได้ย้ายครอบครัวเขาไปอยู่อาศัยในบ้าน เพราะบ้านจำเลยอยู่ที่จังหวัดยะลา ส่วนบ้านเดิมอยู่ห่างจากบ้านที่ซื้อมาจากโจทก์ประมาณ 500 เมตร ให้คนอื่นเช่าอาศัย จำเลยจะกลับมาบ้านดังกล่าวเดือนละ 3 ถึง 4 ครั้ง เพื่อเก็บค่าเช่าและทำความสะอาดบ้านที่ซื้อมาจากโจทก์เท่านั้น แสดงว่าจำเลยไม่ได้เข้าไปครอบครองอยู่อาศัย ทั้งจำเลยยังเบิกความตอบคำถามค้านโจทก์ว่ารอบๆ บ้านพิพาทมีการปลูกมะพร้าว 2 ถึง 3 ต้น แต่ก็ไม่ทราบว่าใครเป็นคนปลูก ทั้งรอบๆ บ้านเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่จำเลยก็ไม่ทราบว่าบุคคลใดจะเข้าครอบครองทำประโยชน์หรือไม่ ยิ่งทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยไม่ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทเลย พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา เมื่อได้ความว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท แม้โจทก์จะไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองเพราะเป็นที่สาธารณประโยชน์ก็ตาม แต่โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ย่อมมีสิทธิดีกว่า การที่จำเลยซื้อเฉพาะบ้านของโจทก์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วไม่ยอมรื้อถอนบ้านดังกล่าวออกจากที่ดินพิพาทตามประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งด้านหลังประกาศดังกล่าวระบุไว้ชัดแจ้งว่า ผู้ใดซื้อบ้านได้ต้องรื้อไป เมื่อจำเลยไม่ยอมรื้อไปจากที่ดินที่โจทก์ครอบครองอยู่ เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนบ้านออกจากที่ดินพิพาทได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันโจทก์ย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลย และจำเลยไม่ได้แย่งการครอบครองไปจากโจทก์ จำเลยจึงจะยกอายุความ 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง มาเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share