คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5230/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องนำพยานเข้ามาสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยก่อน หากพยานหลักฐานของโจทก์นำมาสืบฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นก็ดีจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดก็ดี ศาลก็ต้องยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 รวมทั้งในคดีความผิดต่อส่วนตัวโจทก์ยังต้องมีหน้าที่นำสืบให้ศาลเห็นว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลด้วย
คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่าโจทก์มิได้เกี่ยวข้องกับสัญญาขายหุ้น ทั้งโจทก์มิได้นำสืบตัวโจทก์ เท่ากับแสดงว่าศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักคำเบิกความของ ว. ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนโจทก์แล้วว่าไม่มีน้ำหนักรับฟังได้นั่นเอง กรณีมิใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานที่มีปรากฏอยู่ในทางพิจารณาเพียงบางส่วนหรือไม่ครบถ้วน ดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าศาลชั้นต้นมิได้มีคำวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงในคดีนี้จนครบถ้วนเท่ากับยังไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นโดยประสงค์ให้ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงไปตามคำเบิกความทั้งหมดของ ว. พยานโจทก์ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาที่โจทก์อ้างเป็นข้อกฎหมายว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายอันถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของโจทก์มีว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์โดยเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานที่มีปรากฏอยู่ในทางพิจารณายังไม่ครบถ้วนอันเป็นการไม่ปฏิบัติไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หากพิจารณาพยานหลักฐานทั้งปวงแล้ว จะพบว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอแก่การวินิจฉัยชั่งน้ำหนักให้ฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงอย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น” และมาตรา 174 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ก่อนนำพยานเข้าสืบ โจทก์มีอำนาจเปิดคดีเพื่อให้ศาลทราบคดีโจทก์ คือแถลงถึงลักษณะของฟ้อง อีกทั้งพยานหลักฐานที่จะนำสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยเสร็จแล้วให้จำเลยนำพยานเข้าสืบ” แสดงว่าในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องนำพยานเข้ามาสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยก่อน หากพยานหลักฐานของโจทก์นำมาสืบฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นก็ดี จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดก็ดี ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 รวมทั้งในคดีความผิดต่อส่วนตัวโจทก์ยังต้องมีหน้าที่นำสืบให้ศาลเห็นว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลด้วย คดีนี้โจทก์นำนายวิชัย ชายะพงศ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เข้ามาเป็นพยานปากเดียวเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นพิจารณาว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายเพราะจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระค่าเสียหายให้แก่นายวิชัยและนายวิชัยต้องนำไปแบ่งให้แก่โจทก์เพราะที่ดินตามสัญญาซื้อขายหุ้นเดิมโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย ซึ่งนายวิชัยได้โทรศัพท์แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขกับเรื่องค่าเสียหายดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้ว วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำมาสืบว่า สัญญาซื้อขายหุ้นทำระหว่างนายวิชัยกับจำเลยโดยโจทก์ไม่เกี่ยวข้อง ทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบตัวโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและในชั้นพิจารณากับข้อเท็จจริงคงได้จากพยานหลักฐานดังกล่าวเพียงว่า นายวิชัยให้โจทก์นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีแทน โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบ จึงไม่เป็นผู้เสียหายแม้คำวินิจฉัยดังกล่าวจะมิได้กล่าวไปถึงคำเบิกความของนายวิชัยที่ว่า ได้นำเช็คพิพาทไปแบ่งให้แก่โจทก์เพราะเดิมโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามสัญญาซื้อขายหุ้นจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม แต่คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า โจทก์มิได้เกี่ยวข้องกับสัญญาขายหุ้นทั้งโจทก์มิได้นำสืบตัวโจทก์ ดังนี้เท่ากับแสดงว่าศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักคำเบิกความของนายวิชัยดังกล่าวแล้วว่าไม่มีน้ำหนักรับฟังได้นั่นเอง กรณีมิใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานที่มีปรากฏอยู่ในทางพิจารณาเพียงบางส่วนหรือไม่ครบถ้วน ดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงในคดีนี้จนครบถ้วนเท่ากับยังไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นโดยประสงค์ให้ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงไปตามคำเบิกความทั้งหมดของพยานโจทก์คือนายวิชัยเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาที่โจทก์อ้างเป็นข้อกฎหมายว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายอันถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share