คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5188/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์นำแบบพิมพ์สัญญาซึ่งยังมิได้กรอกข้อความมาให้จำเลยลงลายมือชื่อโดยอ้างว่าเป็นใบสมัครงาน จำเลยหลงเชื่อจึงลงลายมือชื่อในเอกสารไปโดยจำเลยยังไม่ได้ตกลงกับโจทก์ตามข้อความที่ปรากฏในสัญญา การที่โจทก์นำสัญญาไปกรอกข้อความในภายหลัง แม้จะมีลายมือชื่อจำเลยเป็นคู่สัญญาก็จะถือว่าจำเลยได้แสดงเจตนาเข้าทำสัญญากับโจทก์ตามข้อความที่ปรากฏในสัญญายังไม่ได้ จึงยังไม่มีผลผูกพันจำเลย โจทก์จะนำสัญญามาฟ้องบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามหรือเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานผิดสัญญาหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวน 439,849.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยเลิกกิจการและหยุดทำงานที่ร้าน “ไฮหย่อง แฮร์” หรือร้านอื่นที่อยู่ภายในรัศมี 5 กิโลเมตร จากที่ตั้งร้านของโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายวันละ 500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกกระทำกิจการละเมิดต่อโจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกิจการร้านทำผมชื่อ “โอภาสซาลอน” เมื่อปี 2535 จำเลยได้ไปทำงานเป็นช่างทำผมอยู่ที่ร้านของโจทก์ และโจทก์ได้นำสัญญาให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้ ต่อมาจำเลยลาออกจากงานที่ร้านของโจทก์ไป แล้วจำเลยได้ไปเป็นช่างทำผมที่อื่น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาดังกล่าวมีผลผูกพันจำเลยหรือไม่… โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2535 จำเลยได้ไปสมัครฝึกงานที่ร้านของโจทก์และได้ทำสัญญาตกลงกับโจทก์ว่า หากจำเลยจะลาออกต้องบอกล่วงหน้า 2 เดือน ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะต้องเสียค่าปรับ 100,000 บาท และหากจำเลยลาออกจำเลยจะต้องไม่เปิดกิจการร้านทำผมหรือไปทำงานที่ร้านอื่นลักษณะเดียวกันในรัศมี 5 กิโลเมตรจากร้านของโจทก์หากผิดสัญญาต้องเสียค่าปรับ 200,000 บาท ในขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาสัญญาดังกล่าวมีการกรอกข้อความครบถ้วนแล้ว และมีภริยาของโจทก์กับพนักงานในร้านของโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นพยาน โดยโจทก์มีนางปรียา ศานติมารค ภริยาของโจทก์ซึ่งลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาดังกล่าวเป็นพยานเบิกความสนับสนุนความในข้อนี้จำเลยได้อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความต่อสู้ว่าจำเลยเรียนทำผมที่โรงเรียนนักออกแบบทรงผมเรืองฤทธิ์เมื่อปี 2531 และได้รับประกาศนียบัตรหลักสูตร “เต็มหลักสูตร” เมื่อวันที่22 กรกฎาคม 2533 ซึ่งจำเลยสามารถทำผมได้ทั้งชายและหญิงรวมทั้งออกแบบทรงผมหลังจากนั้นจำเลยก็ได้ทำงานเป็นช่างทำผมตลอดมา ในปี 2534 จำเลยทำงานเป็นช่างทำผมอยู่ที่ร้าน “ดุ๊ก” ในห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์งามวงศ์วาน และรู้จักกับโจทก์เนื่องจากโจทก์ต้องการขยายสาขาร้านทำผมของโจทก์จึงมาดูงานตกแต่งร้านที่ร้านดุ๊ก แล้วโจทก์ได้ชักชวนจำเลยไปทำงานกับโจทก์ ซึ่งจำเลยก็ตกลงด้วย หลังจากที่จำเลยได้รับเงินรายได้จากการทำงานที่ร้านโจทก์ 10 วันต่อมาโจทก์ได้นำแบบพิมพ์ซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความตามเอกสารหมาย จ.2 มาให้จำเลยลงลายมือชื่อโดยแจ้งว่าเป็นใบสมัครเข้าทำงานจำเลยไม่คิดว่าเป็นลูกจ้างของโจทก์เนื่องจากเป็นการทำงานโดยแบ่งเปอร์เซ็นต์กันและร้านของโจทก์ไม่มีอาจารย์สอนทำผมแต่อย่างใด โดยจำเลยมีนางสาวเกษรพัฒน์ทอง ซึ่งเคยทำงานเป็นช่างทำผมในร้านของโจทก์เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่าโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ฝึกสอนช่างทำผมที่มาทำงานในร้านของโจทก์ เพราะช่างทำผมทุกคนที่มาทำงานในร้านของโจทก์มีประสบการณ์ความรู้ความสามารถในการทำงานจากที่อื่นอยู่ก่อนแล้ว มีนายฤทธิ์รงค์ ดาราฤกษ์ ซึ่งเคยทำงานเป็นช่างทำผมในร้านของโจทก์และเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญา เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า พยานลงลายมือชื่อเป็นพยานในเอกสารโดยไม่ทราบข้อความเนื่องจากขณะลงลายมือชื่อเอกสารดังกล่าวยังไม่มีการกรอกข้อความแต่จำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ก่อนแล้ว เห็นว่า จำเลยมีประกาศนียบัตรเป็นพยานหลักฐานแสดงว่าจำเลยเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในวิชาชีพด้านการทำผมอยู่ก่อนที่จะมาทำงานที่ร้านของโจทก์แล้ว และหลังจากเรียนจบวิชาชีพดังกล่าวเมื่อปี 2533 แล้ว จำเลยได้ไปทำงานตามวิชาชีพอีก 2 ปี จึงมาทำงานที่ร้านของโจทก์ ศาลฎีกาได้ตรวจดูสัญญาที่โจทก์อ้างส่งแล้ว ปรากฏว่าในข้อ 1 ได้ระบุไว้ว่า โจทก์ตกลงให้การศึกษา จำเลยตกลงรับการศึกษาวิชาชีพทำผมไม่ว่าโดยวิธีการส่งให้เรียน และ/หรือฝึกหัดโดยโจทก์หรือตัวแทนของโจทก์จนสามารถประกอบวิชาชีพดังกล่าวได้ และในข้อ 2 ระบุว่า จำเลยตกลงว่าหากศึกษาวิชาชีพทำผมตามข้อ 1 จนสามารถประกอบวิชาชีพได้แล้ว จะทำงานด้านผมอยู่ร้านทำผมของโจทก์… ฯลฯ แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ให้การศึกษาหรือฝึกอบรมจำเลยอย่างไรบ้าง โจทก์คงเบิกความอ้างเพียงว่า หลังจากทำสัญญาแล้ว จำเลยได้ฝึกงานและสามารถออกแบบทรงผมบุรุษและสตรีได้จนชำนาญ ซึ่งเป็นการเบิกความอ้างลอย ๆ แม้โจทก์จะมีนางปรียา ศานติมารคมาเบิกความว่า ขณะที่จำเลยมาสมัครงานที่ร้านทำผมของโจทก์มีการฝึกหัดให้จำเลย แต่นางปรียาเป็นภริยาของโจทก์และประกอบกิจการร้านทำผมร่วมกันซึ่งตามธรรมดาจะต้องเบิกความให้เป็นประโยชน์แก่โจทก์อยู่แล้ว ข้อนำสืบของโจทก์ในข้อนี้จึงมีน้ำหนักน้อย สำหรับนางสาวเกสรและนายฤทธิรงค์พยานจำเลยนั้น แม้จะปรากฏว่าเคยถูกโจทก์สั่งพักงานก็ไม่ได้หมายความว่า พยานดังกล่าวจะต้องมาเบิกความเป็นปฏิปักษ์ต่อโจทก์เสมอไป คำเบิกความของพยานดังกล่าวจึงนำมาฟังประกอบพยานอื่นของจำเลยได้ ตามรูปเรื่องที่คู่ความนำสืบจึงเชื่อได้ว่า จำเลยเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการทำผมและออกแบบทรงผมก่อนที่จะมาทำงานเป็นช่างทำผมที่ร้านของโจทก์แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จำเลยจะต้องมาสมัครฝึกงานที่ร้านของโจทก์อีก จึงฟังได้ว่าข้อความที่ระบุในสัญญาข้อ 1 และข้อ 2 ขัดต่อความเป็นจริง ดังนั้น หากจำเลยได้อ่านหรือรู้ถึงสาระสำคัญของข้อสัญญา ก็ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะยอมเสียเปรียบลงลายมือชื่อทำสัญญาต่างตอบแทนกับโจทก์ในลักษณะเช่นนั้น ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงมีเหตุผลน่าเชื่อตามที่จำเลยนำสืบว่า โจทก์ได้นำแบบพิมพ์สัญญาซึ่งยังมิได้กรอกข้อความมาให้จำเลยลงลายมือชื่อโดยอ้างว่าเป็นใบสมัครงาน และจำเลยหลงเชื่อจึงลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวไปโดยจำเลยยังไม่ได้ตกลงกับโจทก์ตามข้อความที่ปรากฏในสัญญา การที่โจทก์นำสัญญาดังกล่าวไปกรอกข้อความในภายหลัง แม้จะมีลายมือชื่อจำเลยเป็นคู่สัญญาก็จะถือว่าจำเลยได้แสดงเจตนาเข้าทำสัญญากับโจทก์ตามข้อความที่ปรากฏในสัญญายังไม่ได้ สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลย โจทก์จะนำมาฟ้องบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามหรือเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานผิดสัญญาหาได้ไม่ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นตามฎีกาของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ว่าจะวินิจฉัยไปในทางใดก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share