คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2545 มาตรา 26 ยกเลิกความในมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแตกต่างจากมาตรา 91 เดิมซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพับบาทถึงหนึ่งแสนบาทโทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เบากว่าเดิม จึงต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า ส่วนโทษปรับขั้นต่ำตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่สูงกว่าโทษปรับขั้นต่ำตามกฎหมายเดิม โทษปรับขั้นต่ำตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่า แต่โทษปรับขั้นสูงตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า ดังนั้น กรณีโทษปรับจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใด โทษปรับที่จะลงแก่จำเลยอยู่ในระดับที่ใช้กฎหมายในขณะกระทำความผิดหรือใช้กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดก็ได้ ศาลฎีกาจึงใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2545 เวลากลางวันจำเลยซึ่งได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ขับรถยนต์ส่วนบุคคล เสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ในขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะบรรทุก (ปิกอัพ) หมายเลขทะเบียน บ-1492 ชลบุรี อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ และสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิวรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคสอง (ที่ถูกและประกอบด้วยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 26 ยกเลิกความในมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งมาตรา 91ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากมาตรา 91 ตามกฎหมายเดิมซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท จะเห็นได้ว่ากรณีโทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เบากว่าโทษจำคุกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 91 เดิม จึงต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า ส่วนโทษปรับนั้น โทษปรับขั้นต่ำตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษสูงกว่าโทษปรับขั้นต่ำตามกฎหมายเดิม โทษปรับขั้นต่ำตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่า แต่โทษปรับขั้นสูงตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงเป็นคุณมากกว่า ดังนั้น กรณีโทษปรับจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใด พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า โทษปรับที่จะลงแก่จำเลยอยู่ในระดับที่ใช้กฎหมายในขณะกระทำความผิด หรือใช้กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดก็ได้ เช่นนี้จึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 (เดิม และที่แก้ไขใหม่) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 (เดิม และที่แก้ไขใหม่) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งเป็นเงิน 25,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 25,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้อีกกับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share