คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2921/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจำเลยเป็นฝ่ายฎีกา โจทก์มิได้ฎีกาแต่กล่าวมาในคำแก้ฎีกาว่าโจทก์มีสิทธิได้ดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี ศาลฎีกาจะพิพากษาเพิ่มดอกเบี้ยให้โจทก์หาได้ไม่ เพราะไม่มีคำขอและคำฟ้องฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ขอร้องโจทก์ให้ช่วยไถ่ถอนที่ดินโฉนดเลขที่ 3400ตำบลยานนาวา ซึ่งจำเลยจำนองไว้กับบริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัด เป็นเงิน 600,000 บาท โดยสัญญาว่าเมื่อไถ่ถอนจำนองแล้วนำที่ดินนั้นไปขายได้กำไรเท่าใดจะแบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่งครั้นโจทก์ไถ่ถอนจำนองแล้วจำเลยผ่อนชำระเงินให้โจทก์ 250,000 บาท ต่อมาจำเลยทำสัญญารับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้ตามสำเนาท้ายฟ้องเป็นเงิน 350,000 บาท ครั้นพ.ศ. 2514 จำเลยทำการแบ่งแยกโฉนดและตัดถนนในที่พิพาทสร้างตึกแถวได้ 84 ห้อง ขายตึกแถวพร้อมที่ดินไปประมาณ 50 ห้อง แต่จำเลยไม่ชำระเงินตามสัญญารับสภาพหนี้ให้โจทก์ โจทก์มีสิทธิได้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเวลา 9 ปี 10 เดือน 10 วัน เป็นเงิน 262,500 บาท ขอให้พิพากษาให้จำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 612,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 350,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยขอให้โจทก์ออกเงิน 600,000 บาท ไถ่ถอนจำนองที่ดิน เพื่อนำที่ดินไปขายแบ่งกำไร และไม่เคยชำระเงิน250,000 บาทแก่โจทก์ ความจริงมีว่าเมื่อ พ.ศ. 2501 จำเลยจำนองที่ดินไว้ต่อบริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัด ต่อมาโจทก์ยืมเงินจำเลย 600,000 บาท แล้วออกเช็คให้จำเลยยึดถือไว้ ครั้น พ.ศ. 2502 จำเลยตกลงให้โจทก์กับพวกก่อสร้างตึกแถว 2 ชั้นลงในที่ดินนั้น และปีเดียวกับโจทก์ชำระเงินกู้ 600,000 บาทแก่จำเลย จำเลยคืนเช็คให้โจทก์ไป ส่วนที่ดินเมื่อจำเลยไถ่ถอนแล้วโจทก์กับพวกได้ปลูกสร้างตึกแถวขึ้น แต่สร้างได้เพียง 44 ห้องก็เลิกสัญญา ต้องโอนกิจการให้คนอื่นต่อมา พ.ศ. 2505 จำเลยให้ปลูกตึกแถวเพิ่มขึ้นอีก 16 ห้อง แต่คงขายได้เพียง 30 ห้อง ครั้น พ.ศ. 2509 จำเลยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมูนิสต์ โจทก์อ้างว่าสามารถช่วยได้ แต่ต้องเสียเงินบ้าง แล้วพากันไปพบเจ้าพนักงานตำรวจสันติบาล เจ้าพนักงานตำรวจบันทึกคำให้การจำเลยไว้มีข้อความตอนหนึ่งว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไป 600,000 บาท จำเลยทักท้วงและไม่ยอมลงชื่อ ต่อมาโจทก์บอกว่าเงินนั้นเจ้าพนักงานตำรวจเรียกร้องเพื่อให้เรื่องของจำเลยเสร็จไป จำเลยต่อรองลงมาเหลือ 350,000 บาท และนัดชำระเมื่อขายที่ดินแปลงดังกล่าวหมดแล้ว และในวันเดียวกันได้ทำสัญญาอีกฉบับหนึ่ง สัญญาสองฉบับนี้ทำขึ้นเพื่อปิดบังอำพรางสัญญาที่จำเลยตกลงจะให้เงิน 350,000 บาท เพื่อให้สินบนเจ้าพนักงานตำรวจ จึงไม่มีผลบังคับ ต่อมาราว 2 เดือน เจ้าพนักงานตำรวจระงับเรื่องที่จำเลยถูกกล่าวหาและมิได้เรียกร้องเงิน จำเลยจึงปฏิเสธการจ่ายเงิน 350,000 บาท แก่โจทก์ และขอสัญญาคืน แต่โจทก์อ้างว่าหาย หลังจากนั้นโจทก์ยืมเงินจำเลยหลายครั้งแล้วชำระด้วยเช็ค ตอนหลังเช็คขึ้นเงินไม่ได้ จำเลยทวงถาม โจทก์จึงฟ้องคดีนี้

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า หนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากเงินที่โจทก์ออกทดรองไถ่ถอนจำนองที่ดินจำเลยไม่ใช่นิติกรรมอำพรางให้เงินสินบนเจ้าพนักงาน จำเลยต้องชำระให้โจทก์ แต่โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือทวงถามอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี พิพากษากลับให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 350,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2519 จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยฎีกา

ศาฎีกาวินิจฉัยว่าหนี้ตามสัญญาหมาย จ.1 เป็นผลสืบเนื่องมาจากเงินที่โจทก์ออกทดรองไถ่ถอนจำนองที่ดินของจำเลย ไม่ใช่นิติกรรมอำพรางการให้เงินสินบนเจ้าพนักงาน

ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาว่าโจทก์มีสิทธิได้ดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีทั้งดอกเบี้ยต้องคิดตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2509 เป็นต้นมา โจทก์ขอคิดเพียง 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยนั้น โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาจะพิพากษาเพิ่มดอกเบี้ยให้ไม่ได้

พิพากษายืน

Share