คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2641/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งวรรคท้ายของมาตรานี้ ซึ่งบัญญัติไว้ว่าจะดำเนินการในศาลแรงงานได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้แล้ว
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 25 วรรคแรก ได้บัญญัติขั้นตอนและวิธีการให้ปฏิบัติจนกระทั่งมีคำวินิจฉัยชี้ขาดจากคณะบุคคลเพื่อชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานไว้แล้ว และวรรคสอง บัญญัติให้คำชี้ขาดของคณะบุคคลนั้นเป็นที่สุด ดังนี้ ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างย่อมจะต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้น ไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คัดค้านหรือดำเนินการในศาลแรงงานได้อีก เว้นเสียแต่ว่า โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าคำชี้ขาดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งก็ต้องเป็นเรื่องฟังข้อเท็จจริงหรือใช้ดุลยพินิจโดยไม่มีพยานหลักฐานหรือมีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ หรือขัดแย้งต่อพยานหลักฐาน หรือมิได้เป็นไปโดยสุจริต เมื่อโจทก์มิได้กล่าวอ้างเช่นนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ มีหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานได้ทำคำชี้ขาดให้โจทก์จ่ายเงินค่าครองชีพ และจ่ายเงินโบนัสประจำปีเพิ่มขึ้นแก่สมาชิกสหภาพแรงงาน ลูกจ้างของโจทก์ คำชี้ขาดของจำเลยนั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่อ มิได้สอบสวนข้อเท็จจริงให้รอบคอบ มิได้พิจารณาหลักฐานหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกำไรสุทธิ โดยฟังแต่เพียงงบดุล ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย
ศาลแรงงานกลางพิจารณาคำฟ้องประกอบกับคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลย ปรากฏว่าคำชี้ขาดของจำเลยเป็นการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๕ ซึ่งบัญญัติให้เป็นที่สุด โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องมิได้ เว้นแต่จะปรากฏว่า จำเลยได้ใช้ดุลพินิจในการชี้ขาดนั้นโดยไม่สุจริต หรือชี้ขาดโดยขัดแย้งต่อพยานหลักฐาน แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้อ้างเช่นนั้น จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาสู่ศาลพิพากษาฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามคำบรรยายฟ้องประกอบกับเอกสารซึ่งโจทก์ส่งศาลนั้น แสดงว่า สหภาพแรงงานคาวาซากิไทยได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ได้มีการเจรจากันระหว่างสหภาพแรงงานฯ กับโจทก์ผู้เป็นนายจ้างแล้ว แต่ตกลงกันไม่ได้ จึงถือว่าได้มีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นตามมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ พนักงานประนอมข้อพิพาทได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยแล้วก็ยังตกลงกันไม่ได้ พนักงานประนอมข้อพิพาทจึงส่งข้อพิพาทนี้ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยเพื่อชี้ขาดโดยอาศัยมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ประกอบกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแต่งตั้งคณะบุคคลเพื่อชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๙ จำเลยได้พิจารณาและชี้ชาดแล้ว โจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดนั้น จึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว ที่โจทก์อ้างว่าศาลแรงงานจะต้องรับพิจารณาคดีนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ก็จริง แต่วรรคท้ายของมาตรา ๘ นั้นบัญญัติว่า “คดีตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์บัญญัติให้ร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้แล้ว” เมื่อการเรียกร้องให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เช่นกรณีแห่งคดีนี้ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้บัญญัติขั้นตอนและวิธีการให้ปฏิบัติจนกระทั่งมีคำวินิจฉัยชี้ขาดจากจำเลย ซึ่งเป็นคณะบุคคลดังที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๕ แล้ว แต่เมื่อวรรคสองแห่งมาตรา ๒๕ บัญญัติว่า “คำชี้ขาดของคณะบุคคลนั้นให้เป็นที่สุด…” ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างย่อมจะต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้น ไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คัดค้านหรือดำเนินการในศาลแรงงานได้อีก จริงอยู่ที่โจทก์มีสิทธิฟ้องกล่าวหาว่าคำชี้ขาดนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นก็ต้องเป็นเรื่องฟังข้อเท็จจริงหรือใช้ดุลยพินิจโดยไม่มีพยานหลักฐานหรือมีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอหรือขัดแย้งต่อพยานหลักฐาน หรือมิได้เป็นไปโดยสุจริต เมื่อคดีนี้โจทก์มิได้กล่าวอ้างเช่นนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และการอ้างว่าวินิจฉัยโดยไม่รอบคอบนั้นเป็นธรรมดาของผู้ที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ส่วนที่ว่าฝ่าฝืนขัดแย้งต่อข้อเท็จจริงหรือหลักฐานนั้น โจทก์ก็เพิ่งยกขึ้นอ้างนอกเหนือ คำฟ้อง
พิพากษายืน

Share