คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15933/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุระหว่างที่โจทก์ร่วมครอบครองอยู่ แม้ขณะนั้นที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้สิทธิครอบครองอย่างสมบูรณ์ เพราะมิได้เข้าครอบครองที่ดินที่ทางราชการจัดสรรให้ โดยโจทก์ร่วมกลับเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขัดขวางรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กับทั้งความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้ออื่น จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายอนุชา ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362 จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของนายอนุชา
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินแปลงเลขที่ 18 ระวาง ส.ป.ก. กลุ่มที่ 3588 เลขที่ 6774 เล่ม 68 หน้า 74 อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 45 ตารางวา คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2543 ตามสำเนาหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน โจทก์ร่วมเป็นบุตรของนายสงวน จำเลยเคยให้นายสงวนเข้าไปทำกินในที่ดินที่เกิดเหตุ เมื่อปี 2550 นายสงวนถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นโจทก์ร่วมครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุตลอดมา จำเลยเคยฟ้องขับไล่โจทก์ร่วมออกจากที่ดินที่เกิดเหตุ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด ตามสำเนาคำพิพากษามีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายและโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายสงวนบิดาโจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุตลอดมา ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยเพิ่งเข้าไปครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุระหว่างต้นเดือนมีนาคม 2555 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2555 เวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน แม้ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2543 ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้สิทธิครอบครองอย่างสมบูรณ์เพราะยังไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินที่ทางราชการจัดสรรให้ ดังนี้ การที่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุระหว่างที่โจทก์ร่วมครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุจึงเป็นการขัดขวางรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ทั้งความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362 ตามฟ้องโจทก์ เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้ออื่น จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share