แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่จำเลยเรียกและรับเงินจาก ท.กับพวก โดยอ้างว่าจะเอาไปให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เพื่อให้พิพากษายกฟ้องในคดีที่ ท.กับพวกเป็นจำเลย ดังนี้ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่จำเลยอ้างดังกล่าวย่อมหมายถึงผู้พิพากษาผู้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในศาลอุทธรณ์ได้ตามกฎหมายแม้จะมิได้เป็นเจ้าของสำนวนหรือองค์คณะที่พิจารณาพิพากษาคดีนั้นก็ตาม ก็ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานที่จำเลยจะจูงใจให้กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ ท. กับพวกแล้วการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 143
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำคุก 4 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายซึ่งจำเลยฎีกามาว่าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์คณะ 12 ที่จำเลยอ้างว่าจะจูงใจให้พิพากษายกฟ้องนั้น มิใช่เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนหรือองค์คณะที่พิพากษาคดีดังกล่าว จึงมิใช่เจ้าพนักงานที่จะกระทำการให้เป็นคุณแก่คู่ความแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยไม่เข้าองค์ประกอบของความผิดตาม มาตรา 143 แห่งประมวลกฎหมายอาญาในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยเรียกและรับเงินจำนวน40,000 บาท จากนายธรรมหรือทำ เวียงทอง กับพวกเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยอ้างว่าจะจูงใจให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์คณะ 12 คือนายเรืองสวัสดิ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร นายไพริน มะนุญพรและนายศิลปชัย ธรรมสุกฤต พิพากษายกฟ้องคดีอาญา หมายเลขแดงที่ 1115/2525 ของศาลจังหวัดแพร่ปรากฏว่า ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์คณะ 12 ที่จำเลยอ้างนั้นมิได้เป็นเจ้าของสำนวน หรือองค์คณะที่พิจารณาหรือพิพากษาคดีในศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยเรียกและรับเงินจากนายธรรมหรือทำเวียงทอง กับพวก โดยอ้างว่าจะเอาไปให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เพื่อให้พิพากษายกฟ้องในคดีที่นายธรรมหรือทำกับพวกเป็นจำเลยดังนี้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่จำเลยอ้างดังกล่าวย่อมหมายถึงผู้พิพากษาผู้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในศาลอุทธรณ์ได้ตามกฎหมายแม้จะมิได้เป็นเจ้าของสำนวนหรือองค์คณะที่พิจารณาพิพากษาคดีนั้นก็ตามก็ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานที่จำเลยจะจูงใจให้กระทำการในหน้าที่ อันเป็นคุณหรือเป็นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน