แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานยักยอกทรัพย์ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 314,319(1)(3),63 โดยบรรยายฟ้องว่า “จำเลยที่ 1 เป็นเสมียนพัสดุประจำแขวงการทางจังหวัดมหาสารคามจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานช่างปรับซ่อมเครื่องยนต์และอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งจากนายช่างโทกำกับแขวงการทางจังหวัดมหาสารคาม ให้เป็นพนักงานพัสดุ มีหน้าที่ควบคุมดูแลพัสดุต่างๆรวมทั้งหม้อน้ำรถยนต์ 2 ใบ ฯลฯ” ดังนี้ เมื่อจำเลยเอาหม้อน้ำรถยนต์ไปขายแล้วยักยอกเงินนั้นเสีย การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 319(1) อันเป็นความผิดส่วนตัว เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยที่ 2 อัยการก็ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 314, 319(1) (3), 63, 41, 42 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2474 มาตรา 3, 4
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่รับในข้อเคยต้องโทษ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ได้นำหม้อน้ำของกลางไปจริง โดยจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสั่ง จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าเป็นหม้อน้ำที่จำเลยที่ 1 ยักยอกมาและตัดฟ้องว่าผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ขอให้ฟ้องร้องกล่าวโทษจำเลยที่ 2 พนักงานไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามมาตรา 319(1) เป็นความผิดส่วนตัว แต่ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยที่ 2 อัยการไม่มีอำนาจฟ้องจึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีผิดตามมาตรา 314, 319(1) ให้จำคุก 6 เดือนบวกกับโทษที่รอไว้ รวมจำคุก 7 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 1 มีผิดตามมาตรา 319(3) จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานสมรู้ แต่ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์อันให้มีโทษสูงขึ้นตามมาตรา 319 ได้ถูกประมวลกฎหมายอาญาทับเสียแล้วตามมาตรา 354 จึงลงโทษจำเลยฐานยักยอกทรัพย์ธรรมดาตามมาตรา 314 พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 314 กำหนดโทษและบวกโทษที่รอไว้ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด จำเลยที่ 2 มีผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 314 ประกอบด้วยมาตรา 65 จำคุก 4 เดือน นอกนั้นยืนตามศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า “จำเลยที่ 1 เป็นเสมียนพัสดุประจำแขวงการทางจังหวัดมหาสารคาม จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานช่างปรับซ่อมเครื่องยนต์และอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งมอบหมายจากนายภาสน์ นายช่างโทกำกับการแขวงการทางจังหวัดมหาสารคาม ให้เป็นพนักงานพัสดุ มีหน้าที่ควบคุมดูแลรักษาพัสดุสิ่งของต่าง ๆ รวมทั้งหม้อน้ำรถยนต์ 3 ใบ ฯลฯ” นั้น ตามมาตรา 319(3) บัญญัติเฉพาะบุคคลที่มีหน้าที่อยู่ก่อนแล้วไม่ใช่หน้าที่เป็นเสมียนหรือคนใช้ตามอนุมาตรา (1) เป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากบุคคลทั่ว ๆ ไป อันตรายอันเกิดกับประชาชนย่อมมีมากกว่า จึงบัญญัติให้พนักงานดำเนินคดีโดยไม่ต้องให้ผู้เสียหายมาร้องทุกข์ ทั้งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 กำหนดโทษไว้สูงกว่าการยักยอกธรรมดา ความผิดของจำเลยต้องด้วยมาตรา 319(1)พนักงานอัยการไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2
พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ปล่อยตัวพ้นข้อหาไป