แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่อของโจทก์จำเลยด้วยกันทั้งสองฝ่าย กฎหมายให้ศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนสูงต่ำตามส่วนแห่งความยิ่งหย่อนของผู้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 โดยประมาทเป็นเหตุให้แล่นเข้าชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย จึงขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธและฟ้องแย้งว่า การที่โจทก์ได้รับบาดเจ็บและรถยนต์ของโจทก์เสียหายก็เพราะโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์ของโจทก์โดยประมาทเลินเล่อและได้ขับชนรถยนต์ของจำเลยเสียหาย ขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ไม่ได้ขับรถโดยประมาท
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่รถโจทก์จำเลยชนกันเป็นเพราะเคราะห์กรรม ซึ่งต่างฝ่ายต่างไม่สามารถหลบหลีกได้ทันมากกว่าจะเป็นเพราะความประมาทของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พิพากษาให้ยกฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลย
โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทอย่างมากของฝ่ายจำเลย ฝ่ายโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายอยู่บ้างแต่เป็นส่วนน้อยไม่ควรให้โจทก์ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนพิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์กึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่โจทก์ขอมา
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่อของโจทก์จำเลยด้วยกันทั้งสองฝ่าย กรณีจึงต้องปรับด้วย มาตรา 442 และมาตรา 223 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามกฎหมายดังกล่าวพึงเห็นได้ว่าในเรื่องกำหนดค่าสินไหมทดแทนในการทำละเมิดนั้น กฎหมายให้พิจารณาถึงพฤติการณ์ด้วยว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร กล่าวคือกฎหมายให้ศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนสูงต่ำตามส่วนแห่งความยิ่งหย่อนของผู้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย
ตามข้อเท็จจริงที่พิจารณา ฟังได้ว่า ฝ่ายโจทก์ได้นำรถไปจอดหยุดอยู่ทางขวาของถนนในทางโค้งโดยมิได้จุดโคมไฟในเวลาค่ำคืนและจอดขวางถนนเข้าไปเกือบกึ่งกลางถนน ซึ่งเป็นความประมาทอย่างมากของฝ่ายโจทก์อันนับเป็นมูลเหตุก่อให้เกิดความเสียหาย ฝ่ายจำเลยก็ได้ขับรถแล่นมาด้วยอัตราความเร็วสูง จึงเข้าชนรถของโจทก์ ซึ่งเป็นความประมาทของฝ่ายจำเลยในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ ฝ่ายโจทก์ได้รับมากกว่าฝ่ายจำเลย เมื่อไคร่ครวญโดยอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ เห็นว่าค่าสินไหมทดแทนตามที่โจทก์จำเลยต่างขอมานั้น ควรให้เป็นพับแก่ตน
พิพากษาให้ยกฟ้องของโจทก์ และฟ้องแย้งของจำเลย