คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1698/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้จัดการสาขาธนาคารโจทก์ ได้ให้เครดิตแก่ลูกค้าของธนาคารไป จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายในกรณีไม่จำเป็นต้องเสีย โจทก์ได้สั่งย้ายจำเลยเข้าประจำสำนักงานใหญ่ จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ยอมรับผิดชดใช้ ค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยสัญญาจะผ่อนชำระเป็นรายปี โจทก์ตกลงจะให้จำเลยกลับไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาธนาคารโจทก์ ต่อไปเพื่อช่วยเหลือให้จำเลยมีโอกาสได้ไปเรียกร้องหนี้สินจากลูกค้าเพื่อโจทก์จะหักหนี้ให้จำเลย ข้อตกลงของโจทก์เช่นนี้เป็นเรื่องที่ โจทก์ช่วยเหลือจำเลย หาใช่เป็นเงื่อนไขบังคับก่อนตาม สัญญาประนีประนอมยอมความไม่.
โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยกลับไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาธนาคารโจทก์แล้ว แต่จำเลยป่วยเป็นอัมพาต ไปรับหน้าที่ไม่ได้ แม้โจทก์จะมิได้ดำเนินการทวงถามหรือฟ้องร้องเรียกหนี้สินจากลูกหนี้ และทำให้โอกาสที่จะเอาชำระหนี้ จากลูกหนี้หมดไปก็ตามแต่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์อยู่แล้ว จำเลยจึงยังคงต้อง รับผิดตามสัญญา
ในสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยยอมรับผิดชดใช้ ค่าเสียหายให้แก่โจทก์มิได้ระบุว่าจำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ด้วย ก่อนทำสัญญาคณะกรรมการของโจทก์ก็ได้ประชุมกัน และมีมติให้งดคิดดอกเบี้ยจากจำเลย แม้สัญญาจะระบุว่า หากจำเลยผิดนัดชำระหนี้งวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด แต่เมื่อ จำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนด โจทก์ก็มิได้ฟ้องร้องหรือถือว่าจำเลยผิดนัดจริงจังและเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยกลับมีหนังสือทวงถาม ให้จำเลยชำระหนี้ตามจำนวนในสัญญาโดยมิได้เรียกดอกเบี้ยด้วย ดังนี้ต้องถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อครบกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือทวงถามครั้งสุดท้ายของโจทก์แล้วและต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่นั้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาธนาคารโจทก์ จังหวัดชลบุรี ได้ให้เครดิตแก่ลูกค้าไป 18 ราย เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายโดยไม่จำเป็นจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ 2,296,467 บาท โดยจะผ่อนชำระเป็นรายปี จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยผิดนัด ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยต่อสู้ว่า ตามสัญญาโจทก์ตกลงให้จำเลยกลับไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาชลบุรีต่อไป เพื่อให้จำเลยเรียกร้องหนี้สินจากลูกหนี้ ซึ่งเป็นกิจการที่โจทก์ต้องปฏิบัติก่อน จึงจะเกิดสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่สั่งให้จำเลยกลับไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาชลบุรี และต่อมาจำเลยป่วยเป็นอัมพาตและโจทก์ให้ออกจากงาน เป็นการพ้นวิสัยที่จะปฏิบัติการตามสัญญาได้สัญญาเป็นอันระงับ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้โจทก์ละเลยไม่ฟ้องร้องเรียกหนี้สิน ทำให้โอกาสได้รับชำระหนี้หมดไปจำเลยจึงไม่ต้องรับผิด

ศาลชั้นต้นเห็นว่า นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชดใช้เงินมีเงื่อนไขว่า จำเลยที่ 1 จะต้องได้กลับไปเป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาชลบุรีและเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจจะไปเป็นผู้จัดการได้เพราะทุพพลภาพ สัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่มีผลและเป็นอันระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 145จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากธนาคารโจทก์ ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการธนาคารสาขาจังหวัดชลบุรีจำเลยที่ 1 ได้ให้เครดิตแก่ลูกค้าของธนาคารไปจนเป็นเหตุให้ธนาคารได้รับความเสียหายในกรณีที่ธนาคารไม่จำเป็นต้องเสีย รวมถึง18 ราย เป็นเงิน 2,296,467 บาทอันเกิดจากจำเลยที่ 1 โอนหนี้จากลูกหนี้ส่วนตัวของจำเลยมาเป็นของธนาคารโจทก์สาขาชลบุรีหลายราย บางรายจำเลยที่ 1 ปล่อยให้หนี้สูญหายไปโดยไม่ติดตามทวงถาม บางรายระบุว่ามีหลักประกัน แต่ปรากฏว่าไม่มี และบางรายได้ปล่อยเงินให้ลูกค้าโดยมีหลักประกันไม่เพียงพอ และตามเอกสารหมาย ล.3 ที่จำเลยที่ 1 มีถึงโจทก์ขอให้กลับไปเป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาชลบุรี ก็รับว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้คดีฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจริง จำเลยที่ 1 จึงยอมตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หมาย จ.5 ไว้กับโจทก์ หาใช่เซ็นชื่อในสัญญาดังกล่าวนั้นด้วยความสำคัญผิดในสารสำคัญอย่างใดไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาหมาย จ.5 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทอันจะมีขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลย ในข้อที่จำเลยกระทำการให้โจทก์ต้องเสียหายไป ซึ่งจำเลยจะต้องชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยทำกับโจทก์ให้โจทก์ ส่วนข้อที่ว่าธนาคารโจทก์จะให้จำเลยกลับไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาชลบุรีต่อไปนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ช่วยเหลือให้จำเลยมีโอกาสได้ไปเรียกร้องหนี้สินจากลูกค้าเพื่อทางธนาคารโจทก์จะหักหนี้รายนี้ให้จำเลยต่อไปเท่านั้น จึงหาใช่เป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแต่อย่างใดไม่

ที่จำเลยโต้เถียงมาในคำให้การว่า โจทก์แกล้งละเลยเพิกเฉยไม่ขวนขวายที่จะติดตามทวงถามหรือฟ้องร้องเรียกหนี้สินจากลูกหนี้ซึ่งยังคงเป็นลูกหนี้โจทก์ ทำให้โอกาสที่จะเอาชำระหนี้จากลูกหนี้ทั้งหมดหมดไป จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อหนี้รายนี้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อขึ้นเอง ธนาคารโจทก์ได้รับความเสียหายและโจทก์ได้ให้จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หมาย จ.5ยอมรับผิดในหนี้รายนี้ไว้แล้ว จำเลยจะมาโยนความรับผิดว่าเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะจัดการเรียกร้องจากลูกหนี้เองหาควรไม่ชอบที่จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการเรียกร้องเอาเอง ดังที่โจทก์ยอมตกลงให้จำเลยที่ 1 กลับไปเป็นผู้จัดการตามเดิม อีกทั้งช่วยเหลือในเงินค่าธรรมเนียมในการฟ้องร้องคดีแก่ลูกหนี้ให้ด้วย หากแต่จำเลยที่ 1 มาเจ็บป่วยลงจนไม่สามารถไปปฏิบัติงานได้ จึงเป็นเหตุส่วนตัวของจำเลย แม้โอกาสที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้หมดไปก็ตาม จำเลยก็ยังต้องรับผิดอยู่นั่นเอง ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว

ข้อที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ผิดนัดไม่ชำระหนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งโจทก์จำเลยทำไว้ต่อกันหาได้ระบุไว้ไม่ว่า จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ด้วย ก่อนที่จะมีการทำสัญญาดังกล่าว คณะกรรมการธนาคารโจทก์ก็ได้มีการประชุมกันและมีมติว่า ให้งดคิดดอกเบี้ยจากยอดหนี้สินซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ดังปรากฏตามรายงานการประชุมลงวันที่ 26ธันวาคม 2505 ตามเอกสารหมาย ล.4 แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจะระบุไว้ว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้งวดใดให้ถือว่าผิดนัดไม่ชำระหนี้ทั้งหมดก็ตาม แต่โจทก์ก็หาได้ฟ้องหรือถือว่าจำเลยผิดนัดจริงจังและเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยแต่อย่างใดไม่ ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้วเป็นเวลาถึง2 ปีเศษ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ตามสัญญาให้แก่โจทก์เลยนายทองดุลย์ ธนะรัชต์ กรรมการผู้จัดการธนาคารโจทก์ก็ยังมีหนังสือลงวันที่ 17 ธันวาคม 2507 ตามเอกสารหมาย จ.12 แจ้งให้จำเลยที่ 1 นำเงินตามสัญญาไปชำระให้แก่โจทก์โดยมิได้เรียกร้องดอกเบี้ยด้วย และต่อมาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2509 นายประธานดวงรัตน์ ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากธนาคารโจทก์ให้ทวงถามหนี้สินและดำเนินคดี ก็ได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.13บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ โดยมิได้เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2509 ตามใบรับหมาย จ.14 ครบกำหนด7 วันในวันที่ 15 เดือนเดียวกัน จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดและจะต้องเสียดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2509 เป็นต้นไป ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2,296,467 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินจำนวนนี้นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระและมีการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 จำนองไว้ได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 ชำระจนครบ

Share