คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 858/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความจริงซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ปกปิดไว้ไม่เปิดเผยให้ผู้รับประกันภัยทราบในเวลาทำสัญญาประกันภัย แม้อาจจูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหากได้ทราบข้อความจริงนั้น ไม่ถึงกับให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญาด้วยก็ตามข้อความจริงในระดับความสำคัญทั้งสองประการนี้ย่อมมีผลให้สัญญาประกันภัยเป็นโมฆียะเช่นเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865
ผลแห่งโมฆียะกรรมตามบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นอยู่กับการพิเคราะห์ความสำคัญของข้อความจริง แต่ในชั้นขณะทำสัญญาประกันภัยเท่านั้น ฉะนั้น แม้จะปรากฏว่าผู้เอาประกันชีวิตมิได้มรณะด้วยโรคที่ตนเคยป่วยมาก่อนทำสัญญาประกันชีวิตและได้ปกปิดไว้ไม่เปิดเผยให้ผู้รับประกันภัยทราบก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผลของสัญญาซึ่งเป็นโมฆียะไปแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ผู้รับประกันภัยชอบที่จะบอกล้างสัญญาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศฮ่องกง ได้เข้ามาประกอบธุรกิจการค้ารับประกันชีวิตในราชอาณาจักรไทยโดยจดทะเบียนสาขา ณ กระทรวงเศรษฐการจดทะเบียนจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการมีอำนาจทำการแทนบริษัท จำเลยที่ 3, 4, 5, 6 เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ในการหาประกันชีวิตและจัดการเกี่ยวกับการจัดให้มีการประกันชีวิต

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2509 จำเลยที่ 6 โดยฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ได้นำแบบฟอร์มของบริษัท ฯ จำเลยที่ 1 ซึ่งได้กรอกข้อความเรียบร้อยแล้ว ให้นายสันติ โฆสิตะมงคล ลงชื่อ ตามที่นายสันติ โฆสิตะมงคล ได้ติดต่อขอเอาประกันชีวิตไว้เป็นเงินหนึ่งแสนบาทโดยขอเอาประกันแบบสะสมทรัพย์และอุบัติเหตุด้วย กำหนดอายุสัญญาสิ้นสุดในวันที่ 20 มิถุนายน 2529 ระบุชื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับประโยชน์

ต่อมาในวันนั้นเอง จำเลยที่ 1 ได้จัดให้จำเลยที่ 4 ตรวจสุขภาพนายสันติ แต่นายสันติยังข้องใจในผลการตรวจ เพราะนายสันติ โฆสิตะมงคล เคยได้รับการรักษาเกี่ยวกับโรคเบาหวานและความดันในโลหิตมาก่อน แต่ในรายงานผลการตรวจไม่ปรากฏโรคดังกล่าวนี้ จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6 รับรองว่าโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตนี้เป็นโรคเกี่ยวกับสุขภาพ บริษัทจำเลยที่ 1ไม่ถือเป็นโรคสำคัญที่จะปฏิเสธการรับประกันชีวิต เพราะถ้าจะถือเป็นสารสำคัญก็จะต้องระบุโรคดังกล่าวไว้ในเอกสารหมายเลข 3 ด้วย บริษัทจำเลยที่ 1 โดยการพิจารณาของจำเลยที่ 2, 3 และ 5 เคยรับประกันชีวิตบุคคลอื่นที่เคยรักษาด้วยโรคดังกล่าวมาแล้วหลายราย แต่ผู้เอาประกันภัยจะต้องเสียเบี้ยประกันสูงขึ้นเกี่ยวกับสุขภาพ ในชั้นนี้ให้นายสันติ โฆสิตะมงคล ชำระเบี้ยประกันภัยในอัตราปกติไปก่อน เมื่อบริษัทจำเลยที่ 1 พิจารณาเรื่องสุขภาพแล้ว ถ้าเห็นว่ามิอาจรับได้ก็ดี หรือควรเสียค่าประกันชีวิตเพิ่มอีกมากน้อยเพียงใดก็ดี บริษัทจำเลยที่ 1 จะแจ้งมาภายหลังนายสันติจึงได้ชำระเบี้ยประกันชีวิตในอัตราปกติเป็นจำนวนเงินสำหรับงวดหกเดือนจำนวน 5,013 บาท ให้จำเลยที่ 6 รับไป

ครั้นในวันที่ 21 เดือนเดียวกัน จำเลยที่ 1 ตกลงรับประกันชีวิตรายนี้ แต่เรียกเบี้ยประกันเพิ่มอีกพันละ 10.59 บาท รวมส่วนที่เพิ่มสำหรับครึ่งปีเป็นเงิน467 บาท ซึ่งนายสันติได้ชำระให้จำเลยที่ 6 ไปแล้ว จำเลยจึงมอบกรมธรรม์สัญญาประกันชีวิตให้นายสันติยึดถือไว้ ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์โดยเพิ่มโจทก์ที่ 3 เป็นผู้รับประโยชน์อีกคนหนึ่ง ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัยดังกล่าว นายสันติ โฆสิตะมงคล ได้ถึงแก่กรรมเพราะโลหิตออกมาเนื่องจากการผ่าตัดโรคตับ โจทก์ทั้งสามได้แจ้งการตายของนายสันติให้จำเลยทราบ จำเลยได้จัดให้โจทก์ทำคำขอรับค่าทดแทนเพื่อจะจ่ายเงินให้ตามกรมธรรม์แต่ในที่สุดจำเลยไม่ยอมจ่าย โดยจำเลยที่ 5 เป็นผู้แจ้งให้ทราบ อ้างนายสันติปกปิดโรคของตนขณะขอประกันชีวิต ขอให้จำเลยร่วมกันใช้เงิน 100,000 บาท

จำเลยทั้งหกให้การร่วมกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2-6 เป็นส่วนตัว เพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในนามของจำเลยที่ 1 ความจริงในวันที่ 10 มิถุนายน 2509 นั้น นายสันติได้ทำคำขอเอาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 6 เป็นผู้ติดต่อและกรอกข้อความ ตามที่ได้สอบถามจากนายสันติในแบบสมัครเอาประกัน และในวันนั้นเอง จำเลยที่ 6 นัดหมายให้นายสันติไปพบจำเลยที่ 4 แพทย์ผู้ตรวจสุขภาพที่จำเลยที่ 1 แต่งตั้งไว้ ข้อความในเอกสารหมาย 3 จึงเป็นข้อความที่จำเลยที่ 4 กรอกตามที่สอบถามจากนายสันติ นอกจากตรวจร่างกายแล้วยังสอบถามว่าเคยป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ดังปรากฏในเอกสารนั้นหรือไม่ แล้วจึงตรวจร่างกาย ซึ่งเป็นการปฏิบัติเช่นแพทย์ผู้ตรวจร่างกายผู้ขอเอาประกันโดยทั่ว ๆ ไป โดยอาศัยความเชื่อมั่นในข้อเท็จจริงที่ผู้เอาประกันชีวิตได้ให้ไว้ต่อแพทย์ผู้ตรวจเสียก่อน จำเลยที่ 1 และที่ 6 ไม่เคยรับรองต่อนายสันติดังโจทก์กล่าวหา นายสันติปกปิดความจริงที่รู้อยู่แล้วต่อจำเลยที่ 4 ว่าไม่เคยป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย 3 ท้ายฟ้อง ความจริงนายสันติเคยป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ขนาดถึงกับไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลก่อนขอเอาประกันชีวิตกับจำเลย จำเลยเพิ่งทราบความจริงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2510 การตรวจร่างกายปรากฏผลเพียงว่าความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติสูง (สูงสำหรับอัตราปกติ) จำเลยที่ 1 จึงเรียกเบี้ยประกันเพิ่มเล็กน้อย หาใช่เรียกเพิ่มโดยรู้ว่าเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงมาก่อนไม่ จำเลยที่ 1 ตกลงรับประกันและออกกรมธรรม์ให้ เมื่อนายสันติถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2509 โจทก์ได้ยื่นขอรับค่าทดแทน จำเลยไม่เคยรับรองจะจ่ายให้ เพียงแต่แจ้งว่าจะได้พิจารณาเมื่อได้รับหลักฐานประกอบคำขอรับเงินค่าทดแทนต่าง ๆ จากโจทก์ เมื่อจำเลยได้สืบสวนต่อมาก็ได้ทราบความจริงว่านายสันติเคยป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงมาก่อนเอาประกันและนายสันติรู้ดีอยู่แล้วได้ปกปิดความจริงต่อจำเลยที่ 4 ขณะสอบถามทั้งแจ้งเท็จว่าไม่เคยป่วยด้วยโรคใด ๆ มาก่อนเลย หากจำเลยรู้ความจริงก็ต้องปฏิเสธการรับประกันชีวิตนายสันติ นายสันติตายสืบเนื่องจากโรคที่เคยป่วยมาก่อน จำเลยทราบความจริงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2510 จึงมีหนังสือถึงโจทก์เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2510 ปฏิเสธการใช้เงินกรมธรรม์ประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2-6 ไม่ต้องร่วมรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 นายสันติปกปิดความจริงในข้อที่เคยป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง นิติกรรมประกันชีวิตตกเป็นโมฆียะ จำเลยได้ปฏิเสธการใช้เงินและบอกล้างนิติกรรมรายนี้แล้ว นิติกรรมจึงตกเป็นโมฆะ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

คดีมาสู่ศาลฎีกาตามที่โจทก์ฎีกาโต้แย้งเป็นประเด็นขึ้นมารวม 4 ข้อด้วยกันคือ

1. ขณะทำสัญญาประกันชีวิตรายนี้ ผู้เอาประกันชีวิตได้แจ้งให้ตัวแทนจำเลยที่ 1 ทราบว่าตนเคยเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงมาแล้ว

2. โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงนี้บริษัทจำเลยที่ 1 ไม่ถือเป็นโรคสำคัญถึงขนาดที่จะไม่รับประกันชีวิต เพียงแต่เป็นเหตุให้บริษัทเรียกเบี้ยประกันชีวิตเพิ่มขึ้นเท่านั้น

3. เมื่อผู้เอาประกันชีวิตตายลงเพราะเหตุการผ่าตัด มิใช่ตายเพราะโรคเบาหวาน บริษัทจึงจะปฏิเสธความรับผิดมิได้

4. จำเลยทั้งหกต้องรับผิดร่วมกันในฐานะตัวการตัวแทน

ในประเด็นข้อ 1 ศาลฎีกาพิจารณาแล้วไม่เชื่อว่าฝ่ายโจทก์ได้แจ้งอาการป่วยเป็นโรคเบาหวานของนายสันติผู้เอาประกันภัยให้ตัวแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ทราบ

ในประเด็นข้อ 2 ศาลฎีกาเห็นว่าความสำคัญของข้อความจริงที่ผู้เอาประกันชีวิตมีหน้าที่ต้องเปิดเผยนั้น ไม่แต่เฉพาะที่อาจมีผลจูงใจผู้รับประกันภัยให้ถึงกับบอกปัดไม่ยอมรับประกันชีวิตเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงข้อความจริงที่อาจจูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น แม้อาจไม่ถึงกับที่จะทำให้ผู้รับประกันภัยปฏิเสธไม่ยอมทำสัญญาด้วยก็ตาม ข้อความจริงในระดับความสำคัญทั้งสองประการนี้ย่อมมีผลให้สัญญาประกันภัยเป็นโมฆียะเช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ได้รู้หรือควรรู้ว่าผู้เอาประกันเคยเป็นโรคเบาหวาน และกรณีฟังได้ว่าโรคเบาหวานเป็นโรคที่สำคัญที่บริษัทประกันภัยต้องการทราบว่าผู้เอาประกันเคยป่วยด้วยโรคนี้หรือไม่ เพื่อในการพิจารณาว่าจะตกลงรับประกันหรือไม่ สัญญาจึงย่อมเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865

ในประเด็นข้อ 3 ซึ่งโจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายขึ้นมาอีกข้อหนึ่งว่า ผู้รับประกันภัยจะปฏิเสธความรับผิดมิได้ เมื่อผู้เอาประกันภัยมรณะด้วยเหตุอื่นมิใช่โรคภัยที่ตนเคยป่วยมาก่อนทำสัญญาประกันชีวิตซึ่งมิได้เปิดเผยให้ผู้รับประกันภัยทราบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าผลแห่งโมฆียะกรรมตามบทบัญญัติดังกล่าวในประเด็นข้อ 2 ขึ้นอยู่กับการพิเคราะห์แต่ในชั้นขณะทำสัญญาว่า ข้อความจริงที่ผู้เอาประกันภัยปกปิดไม่เปิดเผยให้ผู้รับประกันภัยทราบนั้นอาจจูงใจผู้รับประกันให้ปฏิเสธไม่ยอมรับประกัน หรือหากยอมรับประกันก็จะเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือไม่เท่านั้น ไม่จำต้องพิจารณาไปถึงข้อเท็จจริงว่าผู้เอาประกันภัยจะต้องมรณะลงด้วยโรคภัยที่ปกปิด ไม่เปิดเผยให้ทราบนั้นด้วย ถ้าโรคภัยที่ปกปิดไว้มีความสำคัญถึงขนาดดังบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 แล้ว ย่อมมีผลให้สัญญาเป็นโมฆียะ ซึ่งผู้รับประกันภัยชอบที่จะบอกล้างสัญญาได้

กรณีคงเหลือประเด็นข้อสุดท้ายแต่เมื่อฟังว่าสัญญาประกันชีวิตรายพิพาทตกเป็นโมฆะแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงประเด็นที่ว่า จำเลยทั้งหกต้องร่วมรับผิดตามฟ้องหรือไม่

พิพากษายืน

Share