คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 327/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทุนจัดตั้งธนาคาร จ. โดยตกลงให้จำเลยทดรองจ่ายค่าจ้างแก่พนักงานของธนาคารรวมทั้งโจทก์ไปก่อน จำเลยจึงเป็นผู้ร่วมทุนถือหุ้นในธนาคารและเป็นแกนนำในการจัดตั้งธนาคาร จำเลยกับผู้ร่วมทุนทั้งหมดย่อมมีฐานะร่วมเป็นนายจ้างของโจทก์ประกอบกับโครงการจัดตั้งธนาคาร จ. จะต้องระงับลงเพราะจำเลยกับบริษัทเงินทุน ซ. หนึ่งในผู้ร่วมทุนถูกทางราชการสั่งให้ระงับการดำเนินการ ธนาคาร จ. จึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล จำเลยอุทธรณ์ว่า ธนาคาร จ. เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จำเลย และมีผู้ร่วมก่อการเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย จนปัจจุบันนี้จำเลยก็ยังมิได้เข้าชื่อซื้อหุ้นธนาคาร จ. จะถือว่าจำเลยเป็นผู้ร่วมทุนถือหุ้นมิได้ จำเลยมิได้มีส่วนควบคุมดูแลสั่งการหรือบังคับบัญชาโจทก์ จำเลยทดรองจ่ายค่าจ้างแทนธนาคาร จ. เท่านั้น จำเลยมิได้เป็นนายจ้างโจทก์ทั้งสิบสาม จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
คำฟ้องของโจทก์บรรยายถึงค่าจ้างค้างจ่าย อายุงาน และค่าจ้างอัตราสุดท้ายไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว เมื่อจำเลยไม่ให้การปฏิเสธก็ต้องถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์มีอายุงาน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายและค่าจ้างค้างจ่ายตามฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
แม้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 37 วรรคสอง จะให้สิทธิแก่จำเลยที่จะยื่นคำให้การหรือไม่ก็ได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยให้การเป็นหนังสือแล้วก็ต้องเป็นไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การโดยชัดแจ้งในข้อใดย่อมถือว่าจำเลยให้การรับในข้อนั้นแล้ว
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยรับที่จะจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ตามฟ้องเนื่องจากมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลย เท่ากับจำเลยให้การปฏิเสธในประเด็นนี้โดยชัดแจ้งแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความตามฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่นำสืบในประเด็นนี้ประกอบกับสัญญาจ้างงานระบุว่า ในระหว่างที่ยังมิได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งธนาคาร จ. เป็นนิติบุคคล โจทก์ทั้งสิบสามจะได้รับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการต่าง ๆ ของจำเลยในส่วนที่มิได้ระบุไว้ในสัญญานี้ ยกเว้นเรื่องการจ่ายเงินโบนัสจะเป็นไปตามประกาศของโครงการธนาคาร จ. จนกว่าจะมีการจัดตั้งธนาคาร จ. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ ตามระเบียบข้อบังคับของธนาคาร จ. แสดงว่า โจทก์จะได้รับเงินโบนัสต่อเมื่อมีการจัดตั้งธนาคาร จ. เสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อไม่อาจจัดตั้งธนาคารดังกล่าวได้ ประกอบกับระเบียบข้อบังคับของจำเลยไม่ได้กำหนดให้มีการจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงานโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส
จำเลยอุทธรณ์ว่า พระราชกฤษฎีกาการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540บัญญัติให้องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจัดการชำระบัญชีรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยออกประมูลเพื่อแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ทุกราย โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เฉลี่ยกับเจ้าหนี้ทุกราย แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว โดยใช้สิทธิไม่สุจริตยื่นฟ้องคดีนี้จึงไม่ชอบ แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นข้อนี้อันเป็นเรื่องอำนาจฟ้องไว้ในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานก็ตาม แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
พระราชกฤษฎีกาการปฏิรูปสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มีบทบัญญัติห้ามฟ้องไว้แต่เฉพาะในมาตรา 26 โดยห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเท่านั้นเมื่อคดีนี้ไม่ใช่คดีล้มละลาย โจทก์จึงไม่ต้องห้ามฟ้องคดี

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสามสำนวน ศาลแรงงานกลางให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 13

โจทก์ทั้งสิบสามสำนวนฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดจำเลยจ้างโจทก์ทั้งสิบสามเข้าทำงานในส่วนของการเตรียมจัดตั้งธนาคาร กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2540 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสามโดยโจทก์ทั้งสิบสามไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 7 ที่ 8 และที่ 10 ก่อนเข้าทำงานจำเลยแจ้งว่าจะจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ทั้งสิบสาม ยกเว้นโจทก์ที่ 10 เท่ากับอัตราเงินเดือน 4 เดือนต่อปี ตามสัดส่วนของระยะเวลาทำงานในแต่ละปี โจทก์ทั้งสิบสามยกเว้นโจทก์ที่ 10 จึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสปี 2540ด้วย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินโบนัสแก่โจทก์แต่ละคน พร้อมทั้งดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด รายละเอียดปรากฏตามบัญชีสำหรับรวมพิจารณาคดี

จำเลยทั้งสิบสามสำนวนให้การว่า เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2540 จำเลยบริษัทเงินทุน จีซีเอ็น จำกัด (มหาชน) บริษัทเจเนอรัล เอเซีย จำกัด นายชินเวศ สารสาสและนายนุประพัทธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เรียกว่า ผู้ร่วมทุนกลุ่มที่ 1 และบริษัทเฟิรสท์สตีล อินดัสตรี้ จำกัด บริษัทเบทาโกรโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้างจำกัด นายเจริญรัตน์ วิไลลักษณ์ และนายอัตถพงษ์ ลีนุทพงษ์ เรียกว่า ผู้ร่วมทุนกลุ่มที่ 2ได้ร่วมกันร้องขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารเจเนอรัล เอเซีย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยต้องจัดตั้งและเปิดดำเนินกิจการธนาคารให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2540 เพื่อดำเนินการจัดตั้งธนาคารผู้ร่วมทุนและธนาคารเจเนอรัล เอเซีย จำกัด (มหาชน) จึงจัดหาสถานที่ตั้งธนาคารรวมทั้งพนักงานธนาคารภายใต้โครงการจัดตั้งธนาคารเจเนอรัล เอเซีย จำกัด (มหาชน) โดยประกาศรับสมัครพนักงานของธนาคาร และตกลงให้จำเลยทดรองจ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งเงินค่าจ้างแทนธนาคารไปก่อน โจทก์ทั้งสิบสามสมัครเป็นพนักงานของธนาคารเจเนอรัล เอเซีย จำกัด (มหาชน) ตามที่ธนาคารประกาศและทำงานให้ธนาคารเพื่อเตรียมการจัดตั้งธนาคารมาโดยตลอด จนถึงเดือนสิงหาคม 2540 จำเลยและบริษัทเงินทุน จีซีเอ็น จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ร่วมทุนถูกหน่วยงานราชการมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินการ ส่งผลให้โครงการจัดตั้งธนาคารเจเนอรัล เอเซีย จำกัด (มหาชน) ต้องระงับลง เท่ากับธนาคารดังกล่าวมิได้จัดตั้งขึ้น ธนาคารจึงไม่จำต้องว่าจ้างพนักงานรวมทั้งโจทก์ทั้งสิบสามเพื่อดำเนินการจัดตั้งธนาคารอีกต่อไป จำเลยมิได้เป็นนายจ้างโจทก์ทั้งสิบสามจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสิบสามพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง หากโจทก์ทั้งสิบสามมีสิทธิเรียกร้องตามฟ้องก็เป็นเรื่องของผู้เริ่มก่อการจะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งหมดอย่างไรก็ตามโจทก์ทั้งสิบสามไม่สามารถเรียกร้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ทุกคนนับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ข้อ 5 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทุนจัดตั้งธนาคารเจเนอรัลเอเซีย จำกัด (มหาชน) โดยตกลงให้จำเลยทดรองจ่ายค่าจ้างแก่พนักงานของธนาคารรวมทั้งโจทก์ทั้งสิบสามไปก่อน แสดงว่าจำเลยเป็นผู้ร่วมทุนถือหุ้นในธนาคารและเป็นแกนนำในการจัดตั้งธนาคาร จำเลยกับผู้ร่วมทุนทั้งหมดย่อมมีฐานะร่วมเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสิบสาม โจทก์ทั้งสิบสามจึงเป็นลูกจ้างของจำเลยต่อมาธนาคารมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสามตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถจัดตั้งธนาคารได้ จึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสามโดยโจทก์ทั้งสิบสามไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ทั้งสิบสาม จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งถึงอัตราค่าจ้างและอายุงานของโจทก์ทั้งสิบสาม ต้องถือว่าโจทก์ทั้งสิบสามได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายและมีอายุงานตามฟ้อง โจทก์ที่ 7 ที่ 8 และที่ 10 ยังไม่ได้รับค่าจ้างตามฟ้องด้วย ส่วนโจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2540 นับถึงวันเลิกจ้างทำงานไม่ครบ 120 วัน ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยสำหรับเงินโบนัส จำเลยมิได้ปฏิเสธว่าจำเลยไม่เคยมีระเบียบหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัส ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสิบสามฟ้องว่า จำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานเท่ากับอัตราเงินเดือน 4 เดือนต่อปี ตามสัดส่วนของระยะเวลาทำงาน ในปี 2540 โจทก์ทั้งหมดยกเว้นโจทก์ที่ 10 มีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามสัดส่วนระยะเวลาการทำงาน สำหรับดอกเบี้ย พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ข้อ 5 กำหนดให้บริษัทซึ่งถูกระงับดำเนินกิจการไม่จำต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันที่พระราชกำหนดนี้ได้ประกาศใช้บังคับในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำเลยจึงรับผิดชำระดอกเบี้ยถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 อันเป็นวันที่พระราชกำหนดประกาศใช้เท่านั้น พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินโบนัสแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 11 ถึงที่ 13 พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินโบนัส และค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 6 ถึงที่ 10 พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และดอกเบี้ยในต้นเงินค่าจ้างค้างจ่ายตามฟ้องในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งนี้คิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 ตามบัญชีแนบท้ายคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า ธนาคารเจเนอรัล เอเซีย จำกัด (มหาชน) เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยและมีผู้ร่วมก่อการเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน อีกทั้งโจทก์ทั้งสิบสามไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย จนปัจจุบันนี้จำเลยก็ยังมิได้เข้าชื่อซื้อหุ้นธนาคารเจเนอรัล เอเซียจำกัด (มหาชน) จะถือว่าจำเลยเป็นผู้ร่วมทุนถือหุ้นมิได้ จำเลยมิได้มีส่วนควบคุมดูแลสั่งการหรือบังคับบัญชาโจทก์ทั้งสิบสาม จำเลยทดรองจ่ายค่าจ้างแทนธนาคารเจเนอรัลเอเซีย จำกัด (มหาชน) เท่านั้น จำเลยมิได้เป็นนายจ้างโจทก์ทั้งสิบสาม เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทุนจัดตั้งธนาคารเจเนอรัลเอเซีย จำกัด (มหาชน) โดยตกลงให้จำเลยทดรองจ่ายค่าจ้างแก่พนักงานของธนาคารรวมทั้งโจทก์ทั้งสิบสามไปก่อนจำเลยจึงเป็นผู้ร่วมทุนถือหุ้นในธนาคารและเป็นแกนนำในการจัดตั้งธนาคาร จำเลยกับผู้ร่วมทุนทั้งหมดย่อมมีฐานะร่วมเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสิบสาม ประกอบกับข้อเท็จจริงปรากฏว่าโครงการจัดตั้งธนาคารเจเนอรัล เอเซีย จำกัด(มหาชน) ต้องระงับลงเพราะจำเลยกับบริษัทเงินทุน จีซีเอ็น จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ร่วมทุนถูกทางราชการสั่งให้ระงับการดำเนินการ ธนาคารเจเนอรัล เอเซีย จำกัด (มหาชน)จึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

จำเลยอุทธรณ์ประการที่สองว่า ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อ 2 ว่า โจทก์ทั้งสิบสามมีสิทธิได้รับค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และเงินโบนัสหรือไม่ เพียงใด และให้โจทก์ทั้งสิบสามนำสืบก่อนแสดงว่าคำให้การจำเลยได้ปฏิเสธคำฟ้องและข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสิบสามอ้างมาในคำฟ้องกับที่โจทก์ทั้งสิบสามมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นก่อน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสิบสามโดยอ้างว่าจำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้ง และมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยได้บอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสามโดยโจทก์ทั้งสิบสามไม่มีความผิด จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสามบรรยายถึงค่าจ้างค้างจ่าย อายุงาน และค่าจ้างอัตราสุดท้ายไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว เมื่อจำเลยไม่ให้การปฏิเสธก็ต้องถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์ทั้งสิบสามมีอายุงานค่าจ้างอัตราสุดท้ายและค่าจ้างค้างจ่ายตามฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ทั้งศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยแล้วว่า ต่อมาโครงการจัดตั้งธนาคารมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสามตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 เป็นต้นไป ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.ล.5 โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถจัดตั้งธนาคารได้ จึงเป็นการเลิกจ้างที่โจทก์ทั้งสิบสามไม่มีความผิด คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง มาใช้กับคดีแรงงานไม่ได้นั้น เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 37 วรรคสอง จะให้สิทธิแก่จำเลยที่จะยื่นคำให้การหรือไม่ก็ได้ แต่เมื่อจำเลยให้การเป็นหนังสือแล้วก็ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การโดยชัดแจ้งในข้อใดย่อมถือว่าจำเลยให้การรับในข้อนั้นแล้ว แต่เงินโบนัสจำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยรับที่จะจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ทั้งสิบสาม เนื่องจากมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลย เท่ากับจำเลยให้การปฏิเสธในประเด็นนี้โดยชัดแจ้งแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 โจทก์ทั้งสิบสามจึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความตามฟ้อง เมื่อโจทก์ทั้งสิบสามไม่นำสืบในประเด็นนี้ประกอบกับสัญญาจ้างงานเอกสารหมาย จ.ล.4 ข้อ 4 ระบุว่า ในระหว่างที่ยังมิได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งธนาคารเจเนอรัล เอเซีย จำกัด (มหาชน) เป็นนิติบุคคลโจทก์ทั้งสิบสามจะได้รับสิทธิประโยชน์สวัสดิการต่าง ๆ ของจำเลยในส่วนที่มิได้ระบุไว้ในสัญญานี้ ยกเว้นเรื่องการจ่ายเงินโบนัสจะเป็นไปตามประกาศของโครงการธนาคารเจเนอรัล เอเซีย จำกัด (มหาชน) จนกว่าจะมีการจัดตั้งธนาคารเจเนอรัล เอเซีย จำกัด (มหาชน) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ ตามระเบียบข้อบังคับของธนาคารเจเนอรัล เอเซียจำกัด (มหาชน) แสดงว่าโจทก์ทั้งสิบสามจะได้รับเงินโบนัสต่อเมื่อมีการจัดตั้งธนาคารเจเนอรัล เอเซีย จำกัด (มหาชน) เสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อปรากฏว่าไม่อาจจัดตั้งธนาคารดังกล่าวได้ ประกอบกับระเบียบข้อบังคับของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.5 ไม่ได้กำหนดให้มีการจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงาน ดังนั้นโจทก์ทั้งสิบสามจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส

จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงินพ.ศ. 2540 บัญญัติให้องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจัดการชำระบัญชี รวบรวมทรัพย์สินของจำเลยออกประมูลเพื่อแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ทุกราย โจทก์ทั้งสิบสามต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เฉลี่ยกับเจ้าหนี้ทุกราย แต่โจทก์ทั้งสิบสามไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนดดังกล่าว โดยใช้สิทธิไม่สุจริตยื่นฟ้องคดีนี้จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นข้อนี้อันเป็นเรื่องอำนาจฟ้องไว้ในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางก็ตาม แต่เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 พระราชกำหนดดังกล่าวมีบทบัญญัติห้ามฟ้องไว้แต่เฉพาะในมาตรา 26 โดยห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเท่านั้น เมื่อคดีนี้ไม่ใช่คดีล้มละลายโจทก์ทั้งสิบสามจึงไม่ต้องห้ามฟ้องคดี

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 13 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share