คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6940/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง คงบัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งได้ส่งมอบของซึ่งมีสภาพ จำนวน น้ำหนักและรายละเอียดอื่น ๆ ตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งให้แก่ผู้รับตราส่ง ซึ่งเป็นเพียงการสันนิษฐานในเบื้องต้นเท่านั้น ดังนี้แม้ผู้รับตราส่งได้รับมอบสินค้าพิพาทไปเก็บรักษาไว้ที่โกดังของตนแล้ว ต่อมาจึงได้มอบหมายให้บริษัท อ. เป็นผู้ทำการสำรวจสภาพของสินค้าที่พิพาทโดยไม่ปรากฏว่าได้มีการส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือให้ผู้ขนส่งทราบถึงความเสียหายภายในเวลาหนึ่งวันทำการก็ตาม ผู้รับตราส่งก็สามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์หักล้างให้เห็นแตกต่างไปจากข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540 โจทก์รับประกันภัยสินค้าแป้งมันสำปะหลังของบริษัทย่งฮะหลี อิมปอร์ต เอ็กปอร์ต (1974) จำกัด 2 รายการ คือ แป้งมันสำปะหลังตราลูกพลัมคู่ กระสอบละ 50 กิโลกรัม และแป้งมันสำปะหลังตราสามเอ กระสอบละ 20 กิโลกรัม รวมจำนวน 8,500 กระสอบ หนัก 350.850 ตัน ในวงเงิน 217,250 ริงกิตมาเลเซีย ซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ว่าจ้างจำเลยขนส่งสินค้าดังกล่าวจากท่าเรือกรุงเทพ ประเทศไทยไปส่งมอบให้แก่ลูกค้าของผู้เอาประกันภัยคือ บริษัทแอนติค เซมเปอร์น่า จำกัด ที่เมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย โดยเรือเพิร์ล เมื่อจำเลยได้รับสินค้าแป้งมันสำปะหลังบรรทุกลงเรือถูกต้องครบจำนวนแล้ว จำเลยเรียกเก็บค่าระวางการขนส่งและออกใบตราส่งชนิดบรรทุกแล้ว ให้แก่ผู้ส่งสินค้าคือผู้เอาประกันภัย ต่อมาผู้เอาประกันภัยได้รับเงินค่าสินค้าแป้งมันสำปะหลังจากผู้ซื้อสินค้าแล้ว จึงโอนกรรมธรรม์ประกันภัย ใบตราส่ง และเอกสารทางการค้าอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องไปให้แก่ผู้ซื้อ โดยผ่านทางธนาคาร เมื่อวัตถุที่เอาประกันภัยเปลี่ยนมือไป สิทธิตามสัญญาประกันภัยจึงโอนไปยังผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับใบตราส่งเรือเพิร์ลเดินทางมาถึงประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ 9 มีนาคม2540 ได้มีการขนถ่ายสินค้าเพื่อส่งมอบแก่ผู้รับตราส่งต่อเนื่องตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่ 11 มีนาคม 2540 แต่ปรากฏว่าสินค้าขาดไปจำนวน 42 กระสอบ และสินค้าเสียหายเนื่องจากจำเลยประมาทเลินเล่อนำสินค้าหลายประเภทมาบรรทุกรวมกัน เป็นเหตุให้สินค้าเปรอะเปื้อนสกปรกไม่สามารถนำมาใช้บริโภคได้ รวม 488 กระสอบ คิดเป็นเงินค่าเสียหาย 112,887.89 บาท (1 ริงกิตมาเลเซียเท่ากับ 10.492 บาท) บริษัทแอนติค เซมเปอร์น่า จำกัด ผู้รับตราส่งได้เรียกร้องความเสียหายจากจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉยจึงเรียกร้องเอาจากโจทก์ โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แล้ว 112,887.89 บาท เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2540 และรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลย โจทก์ทวงถามจำเลยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีด้วย คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,336 บาท รวมเป็นหนี้ถึงวันฟ้อง 118,223.89 บาท ขอให้ชำระเงิน 118,223.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 112,887.89 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 112,887.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อเรือบรรทุกสินค้าพิพาทเดินทางมาถึงท่าเรือเมืองมะละกาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2540 ได้มีการทำรายงานการสำรวจโดยต้นหนเรือเพิร์ลได้ลงลายมือชื่อและประทับตราของเรือไว้ ตามรายงานการสำรวจเอกสารหมาย จ.7 ต่อมาได้มีการนำสินค้าพิพาทไปเก็บไว้ที่โกดังของบริษัทแอนติค เซมเปอร์น่า จำกัด ผู้รับตราส่งและผู้รับตราส่งได้ว่าจ้างบริษัทแฮฟเปอร์ ไวรา อินชัวรันส์ เซอร์เวเยอร์ส แอนด์ แอดจัสเตอร์ส จำกัด สำรวจความเสียหายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2540 โดยผู้สำรวจความเสียหายได้ทำรายงานการสำรวจไว้เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2540 และถ่ายภาพไว้ สินค้าที่พิพาทได้รับความเสียหายจากการปนเปื้อนน้ำมะขามเปียกและขาดจำนวน 2 รายการ รวม 8,500กระสอบ โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้รับตราส่งเป็นเงินทั้งสิ้น 112,887.89 บาท

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะในข้อกฎหมายที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับขึ้นมาสู่ศาลฎีกาว่า ผู้รับตราส่งทราบรายงานผลการสำรวจและแจ้งให้ผู้ขนส่งทราบว่ามีของสูญหายหรือเสียหายเป็นเวลาเกินกว่า 1 วัน ทำการถัดจากวันรับมอบของ เมื่อไม่มีการสำรวจหรือตรวจสภาพร่วมกันจึงเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยหรือผู้ขนส่งส่งมอบของซึ่งมีสภาพดีให้แก่ผู้รับตราส่งแล้ว โดยเฉพาะเมื่อผู้รับตราส่งได้รับมอบของแล้วก็มิได้โต้แย้งว่าสินค้านั้นเสียหายหรือสูญหายเท่าใด นอกจากนี้จะถือรายงานการสำรวจของต้นหนเรือเพิร์ลพร้อมประทับตราทราบไว้ เป็นการแสดงว่าจำเลยยอมรับว่า สินค้าสูญหายขาดจำนวนไปไม่ได้ เพราะเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 มิได้ถือว่ามีการสำรวจร่วมกันระหว่างผู้ขนส่งและผู้รับตราส่ง ดังนั้น จึงต้องถือว่า ผู้รับตราส่งได้รับมอบสินค้าซึ่งมีสภาพดี มีจำนวนน้ำหนักและรายละเอียดอื่น ๆ ตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 49 การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จำเลยยอมรับว่าสินค้าสูญหายขาดจำนวนไปนั้นเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้จะฟังว่า บริษัทแอนติคเซมเปอร์น่า จำกัด ผู้รับตราส่ง ได้รับมอบสินค้าพิพาทไปเก็บรักษาไว้ที่โกดังของตนแล้ว ต่อมาจึงได้มอบหมายให้บริษัทแฮฟเปอร์ ไวรา อินชัวรันส์ เซอร์เวเยอร์ส แอนด์ แอดจัสเตอร์ส จำกัด เป็นผู้ทำการสำรวจสภาพของสินค้าที่พิพาทโดยไม่ปรากฏว่าได้มีการส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือให้จำเลยผู้ขนส่งทราบถึงความเสียหายภายในเวลาหนึ่งวันทำการ ดังเช่นที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตาม แต่ตาม มาตรา 49 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 คงบัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งได้ส่งมอบของซึ่งมีสภาพ จำนวน น้ำหนัก และรายละเอียดอื่น ๆ ตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งให้แก่ผู้รับตราส่ง ซึ่งเป็นเพียงการสันนิษฐานในเบื้องต้นเท่านั้น โจทก์จึงยังสามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์หักล้างให้เห็นแตกต่างไปจากข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ หากโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานหรือพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ จะต้องถือว่าสินค้าพิพาทที่จำเลยผู้ขนส่งมอบให้แก่บริษัทแอนติค เซมเปอร์น่า จำกัด ผู้รับตราส่งมีสภาพตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง แต่เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาสามารถแสดงให้เห็นได้ว่า ผู้ขนส่งได้มอบสินค้าพิพาทซึ่งมีสภาพเสียหายจากการปนเปื้อนน้ำมะขามเปียก และมีจำนวนไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง ตามรายงานการสำรวจซึ่งลงชื่อและประทับตราโดยต้นหนเรือเพิร์ล เอกสารหมาย จ.7 รายงานการสำรวจของผู้สำรวจความเสียหาย เอกสารหมาย จ.8 และภาพถ่ายสินค้าพิพาท เอกสารหมาย จ.15 ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์

พิพากษายืน

Share