แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะที่มีการโอนหุ้นจำเลยที่ 1 มีกรรมการ 5 คน และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1ระบุว่า การประชุมกรรมการจะต้องมีคณะกรรมการเข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงจะเป็นองค์ประชุมปรึกษากิจการได้ ดังนั้น การที่กรรมการของจำเลยที่ 1 เพียง 2 คน ลงชื่ออนุมัติในการโอนหุ้นย่อมถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 เห็นชอบในการโอนหุ้นเมื่อการที่จำเลยที่ 2 โอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3ได้เข้าร่วมประชุมและออกเสียงในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และย่อมส่งผลให้การประชุมและมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ในครั้งดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ไปด้วยชอบที่จะให้เพิกถอนมติที่ประชุมของจำเลยที่ 1 นั้นเสีย
ข้อฎีกาที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกบริษัทซีโนแมค จำกัด ว่าจำเลยที่ 1 นายคาร์โล สคารมโบเน ว่าจำเลยที่ 2 นายแฟรงโค เทส์สะราท์โท ว่าจำเลยที่ 3 นายอลัน กอนยา ว่าจำเลยที่ 4
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ยังคงเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2534 และครั้งที่ 2/2534ของบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ประชุมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2534 และวันที่ 16 มิถุนายน 2534ตามลำดับ ให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อของจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการของจำเลยที่ 1 รวมทั้งจดทะเบียนให้โจทก์ยังคงเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 มีอำนาจตามเดิม หากจำเลยที่ 2 เพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การในสำนวนแรกและจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การในสำนวนที่สองในทำนองเดียวกันว่า การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2534 จำเลยที่ 1 ได้บอกกล่าวนัดประชุมตามหนังสือโดยแจ้งให้โจทก์ทราบทางไปรษณีย์ไม่น้อยกว่า 7 วันชอบแล้ว เพราะข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ข้อบังคับเด็ดขาด โจทก์เป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ทราบกำหนดนัดวันประชุมตามมติของคณะกรรมการตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2534 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 บอกกล่าวนัดประชุมให้โจทก์ทราบไม่น้อยกว่า 7 วัน แล้วการโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 จำนวน 1 หุ้น ให้จำเลยที่ 3 ได้กระทำถูกต้องแล้ว เพราะข้อบังคับข้อ 3 ของจำเลยที่ 1 มิได้กำหนดว่าการโอนจะต้องเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมทุกคน ทั้งโจทก์ได้รับแจ้งและทราบแล้ว แต่มิได้คัดค้านการโอนหุ้นดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 แล้วมติของที่ประชุมดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย การกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 3 จำนวน 240,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา แม้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษได้ออกเสียงด้วยเป็นการขัดต่อกฎหมาย แต่มติของที่ประชุมในข้อนี้ถึงไม่รวมคะแนนเสียงของจำเลยที่ 3 ก็ยังคงใช้ได้ การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2534 ซึ่งโจทก์ขอให้มีการประชุมนั้นก่อนเริ่มประชุม โจทก์ทราบว่า จำเลยที่ 3 มอบฉันทะให้จำเลยที่ 2 เข้าประชุมแทน โจทก์ยอมให้ที่ประชุมนับคะแนนเสียงของจำเลยที่ 3 ในเรื่องที่ลงมติทุกเรื่อง โดยมิได้คัดค้านการประชุมดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร้องสอดเข้ามาในสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ได้รับเลือกตั้งให้เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ตามมติของที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2534 ในวันประชุมดังกล่าว ที่ประชุมได้ลงมติรับรองการโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงมีส่วนได้เสีย เพราะหากศาลพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนมติของที่ประชุมดังกล่าว สิทธิในการเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จะเสียผล จึงขอเข้าเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
โจทก์ให้การแก้คำร้องสอดว่า การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2534 ของจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และกฎหมาย จำเลยที่ 2 บอกกล่าวนัดประชุมไปถึงโจทก์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2534 โจทก์ทราบเรื่องหลังจากมีการประชุมไปแล้วจำเลยที่ 3 ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเข้าประชุมและออกเสียงในเรื่องต่าง ๆ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2534 ของจำเลยที่ 1 ที่ประชุมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2534 และมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2534 ของจำเลยที่ 1 ที่ประชุมเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2534 ยกคำร้องสอดของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นควรวินิจฉัยประเด็นตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ก่อนว่า ในขณะเข้าประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 1/2534 และครั้งที่ 2/2534จำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.4 ข้อ 3 มีข้อความว่า “การโอนหุ้นจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน โดยมีพยานอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือรับรอง การโอนหุ้นจะต้องเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทก่อน หากไม่มีผู้ถือหุ้นเดิมรับโอนจึงจะโอนให้บุคคลภายนอกได้ และจะโอนได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของบริษัท” โจทก์กล่าวไว้ในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยเสนอขายหุ้นให้แก่โจทก์ก่อนที่จะโอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ 3 แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของโจทก์ดังกล่าว เท่ากับยอมรับว่าจำเลยที่ 2 ไม่เคยเสนอขายหุ้นให้โจทก์จริงที่จำเลยทั้งสี่นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ได้เสนอขายหุ้นให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่สนใจซื้อจึงไม่อาจรับฟังได้ และที่จำเลยทั้งสี่อ้างว่าคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 เห็นชอบด้วยกับการโอนหุ้นตามสัญญาโอนหุ้นเอกสารหมาย ล.4 นั้น ตามเอกสารหมาย ล.4 มีกรรมการของจำเลยที่ 1 ลงชื่อไว้ 2 คน แต่ได้ความว่าในขณะที่มีการโอนหุ้นดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีกรรมการ5 คน และตามข้อบังคับเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 6 ระบุว่า การประชุมกรรมการจะต้องมีคณะกรรมการเข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงจะเป็นองค์ประชุมปรึกษากิจการได้ ดังนั้นการที่กรรมการของจำเลยที่ 1 เพียง 2 คน ลงชื่ออนุมัติในการโอนหุ้นย่อมถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 เห็นชอบในการโอนหุ้น ทั้งจำเลยทั้งสี่ก็ไม่มีหลักฐานมาแสดงว่า ได้มีการประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 เพื่อพิจารณาเรื่องการโอนหุ้นและกรรมการของจำเลยที่ 1 เห็นชอบในการโอนหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การสู้คดีว่า การโอนหุ้นดังกล่าวได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากที่ประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะจำเลยทั้งสี่ก็ยอมรับว่าโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าการโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 3 กระทำโดยถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การสู้คดีไว้ ซึ่งเมื่อฟังว่าจำเลยที่ 2 โอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1ในขณะเข้าประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 1/2534 และครั้งที่ 2/2534 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 เข้าร่วมประชุมและออกเสียงในที่ประชุม จึงเป็นการไม่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และย่อมส่งผลให้การประชุมและมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ทั้งสองครั้งดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ไปด้วย
ส่วนที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า ในปี พ.ศ. 2536 จำเลยที่ 1 ได้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2536 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2536 ในการประชุมดังกล่าวคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับแต่งตั้งจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2534 ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2534 ทั้งคณะได้ขอลาออก แล้วได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่แล้ว ซึ่งคณะกรรมการชุดใหม่ได้ลงมติให้สัตยาบันการกระทำของคณะกรรมการชุดเก่าแล้ว คำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนมติการแต่งตั้งคณะกรรมการในคราวประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2534 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2534 จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาต่อไปนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน