แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน1,117,525.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 816,020 บาทและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 416 บาท จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ไม่เกิน 780,000 บาท ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีหรือตามที่ศาลอุทธรณ์จะเห็นสมควร ดังนี้เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คัดค้านจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ เป็นการพิพาทกันในเรื่องทรัพย์สิน จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ จำเลยที่ 2 จะต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคสอง
จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยนำค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระให้ครบถ้วนตามจำนวนทุนทรัพย์ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดมิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจอุทธรณ์ จำเลยจึงอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อมาแต่เนื่องจากระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยนำค่าขึ้นศาลที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์มาชำระสิ้นสุดแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้จำเลยนำค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์มาชำระภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนด
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,312,788.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 1,662,855.78 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 33,868 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดเป็นเงิน 1,117,525.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 816,020.96 บาทและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 416 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 รับผิดในจำนวนเงิน 186,177.58 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีของต้นเงิน 136,003.48 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 20 ธันวาคม 2536
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์สรุปได้ว่า จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ไม่เกินต้นเงิน 600,000 บาท นับแต่วันทำบันทึกครั้งสุดท้ายคือวันที่ 2 มิถุนายน 2532 คำนวณดอกเบี้ยถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2534 เป็นเงิน 180,000 บาท รวมเป็นเงิน 780,000 บาทขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีหรือตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1จะเห็นสมควร
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ ให้จำเลยที่ 2 นำค่าขึ้นศาลมาชำระให้ครบถ้วนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ภายใน 5 วันนับแต่วันนี้มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจอุทธรณ์ และต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งขยายระยะเวลาการชำระค่าขึ้นศาลออกไปจนถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2537
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 ฎีกาคำสั่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าคดีที่จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 1,117,525.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน816,020 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 416 บาท จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ไม่เกินต้นเงิน 600,000 บาท นับแต่วันทำบันทึกครั้งสุดท้ายคือวันที่ 2 มิถุนายน 2534 เป็นเงิน 180,000 บาท รวมแล้วเป็นเงิน 780,000 บาท ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีหรือตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะเห็นสมควร ดังนี้เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คัดค้านจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการพิพาทกันในเรื่องทรัพย์สิน จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ จำเลยที่ 2 จะต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคสอง
เนื่องจากระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2 นำค่าขึ้นศาลที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์มาชำระสิ้นสุดแล้ว จึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ 2 มีเวลาปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวอีกระยะหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 นำค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์มาชำระภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนดนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น