คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1571/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยยังมีและพาอาวุธปืนพร้อมทั้งเครื่องกระสุนปืนติดตัวไปในที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ นับว่าเป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรงทั้งจำเลยเคยต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้จำคุกอีก 7 คดี ซึ่งมีทั้งรอการลงโทษและไม่รอการลงโทษ แสดงว่าจำเลยมีลักษณะเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย ไม่สำนึกหรือเกรงกลัวต่อโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจะมี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษาฯ มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ ก็ตาม แต่มีผลเพียงให้ถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษจำคุกเท่านั้น มิได้มีผลถึงกับให้ถือว่าความประพฤติหรือการกระทำอันเป็นเหตุให้จำเลยถูกลงโทษจำคุกถูกลบล้างไปด้วย ประกอบกับศาลฎีกาได้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีนี้แล้ว กรณียังไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 67 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 371
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง 72 วรรคสาม 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยยังมีและพาอาวุธปืนพร้อมทั้งเครื่องกระสุนปืนของกลางติดตัวไปในที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ นับว่าเป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติ ซึ่งศาลชั้นต้นได้อ่านให้จำเลยฟังแล้วจำเลยไม่คัดค้าน จึงเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงตามรายงานนั้นว่า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2536 จำเลยต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ในความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3086/2536 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2537 จำเลยต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้จำคุก 3 เดือน ในความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2538 จำเลยต้องคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำคุก 6 เดือน ในความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2742/2538 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2539 จำเลยต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้จำคุก 6 เดือน ในความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2215/2539 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2542 จำเลยต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ในความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2117/2542 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 จำเลยต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ในความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2200/2542 แต่ภายหลังศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย และมีการออกหมายจับจำเลยเพื่อมาบังคับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2548 จำเลยต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 31,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2106/2548 ซึ่งข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจดังกล่าวส่อแสดงว่าจำเลยมีลักษณะเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย ไม่สำนึกหรือกลัวต่อโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจะมีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับโดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ ก็ตาม แต่มีผลเพียงให้ถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษจำคุกเท่านั้น มิได้มีผลถึงกับให้ถือว่าความประพฤติหรือการกระทำอันเป็นเหตุให้จำเลยถูกลงโทษจำคุกถูกลบล้างไปด้วย ประกอบกับศาลฎีกาได้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีนี้แล้วกรณียังไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาเหมาะสมแล้ว แต่สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เห็นว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครอง มีจำนวนเพียง 7 เม็ด น้ำหนัก 0.635 กรัม ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุก 2 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่หนักเกินไป จึงเห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นแล้ว เป็นจำคุก 12 เดือน นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share