คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4701/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2541 จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างและมีกำหนดจ่ายค่าจ้างกันก่อนวันสิ้นเดือนของทุกเดือน โดยให้มีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันวันที่ 1 สิงหาคม 2541 แต่โจทก์ทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างในวันที่ 1 กรกฎาคม2541 ต้องถือว่าจำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ในวันที่โจทก์ได้ทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างคือวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 และเป็นผลให้เลิกสัญญาจ้างกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าคือในวันที่ 30 สิงหาคม 2541 ดังนี้การบอกกล่าวเลิกจ้างของจำเลยที่ประสงค์ให้เป็นผลเลิกสัญญาจ้างกันในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง 61 วัน
โจทก์บรรยายฟ้องและรับตามคำแก้อุทธรณ์ว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนสุดท้ายคือเดือนกรกฎาคม 2541 และโจทก์ได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในเดือนดังกล่าวไปแล้ว โจทก์จึงยังคงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเฉพาะเดือนสิงหาคม 2541 จำนวน 30 วัน เท่านั้น การที่ศาลแรงงานพิพากษาให้โจทก์ยังมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างคนละ 61 วัน โดยนำสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในเดือนกรกฎาคม 2541 มารวมด้วย เป็นการพิพากษาให้เกินสิทธิที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับและเกินคำขอท้ายฟ้อง จึงไม่เป็นธรรมแก่จำเลยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 52
โจทก์เป็นลูกจ้างโรงงานน้ำตาล ส. ซึ่งเป็นกิจการในการดำเนินการควบคุมดูแลของจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาในการจ้างหลังวันที่ 30พฤษภาคม 2526 จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หรือค่าชดเชยกับเงินบำเหน็จที่ต้องจ่ายเพิ่มในกรณีค่าชดเชยต่ำกว่าเงินบำเหน็จจะมีจำนวนเท่าใด ย่อมเป็นไปตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527 ข้อ 12 ส่วนมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้กระทรวงการคลังพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่นเงินเดือน ค่าชดเชย และเงินบำเหน็จต่อไป กับอนุมัติให้นำเงินที่ได้จากการขายโรงงานน้ำตาลไปชำระหนี้ธนาคารกรุงไทย จำกัด และให้นำเงินส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้ส่งคณะกรรมการชำระบัญชีฯ เพื่อดำเนินการจ่ายเงินบำเหน็จและค่าชดเชยแก่พนักงานพร้อมกับดำเนินการในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชำระบัญชีต่อไปนั้น เป็นเพียงการอนุมัติให้กระทรวงการคลังสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ กับให้นำเงินที่ได้จากการขายโรงงานน้ำตาลซึ่งเหลือจากการชำระหนี้ไปจ่ายเป็นค่าชดเชยและเงินบำเหน็จแก่พนักงานที่มีสิทธิได้รับตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527 ข้อ 12 เท่านั้น หาได้อนุมัติให้พนักงานมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและเงินบำเหน็จเพิ่มขึ้นหรือผิดแผกไปจากที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับดังกล่าว ข้อ 12 ไม่ ทั้งจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จให้โจทก์โดยคำนวณบำเหน็จและค่าชดเชยถูกต้องครบถ้วนตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพ.ศ. 2527 ข้อ 12 แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นอีกส่วนหนึ่ง

ย่อยาว

คดีทั้งเจ็ดสิบเจ็ดสำนวนศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 77

โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดสำนวนฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดทำงานเป็นพนักงานโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรีอันเป็นกิจการในการดำเนินการควบคุมดูแลของจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาในการจ้าง โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนกรกฎาคม 2541 ก่อนจำเลยเลิกจ้างคนละ เดือนละระหว่าง 5,450 บาท ถึง 21,620 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันสิ้นเดือนของทุกเดือน 1 วัน ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดโดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 เนื่องจากจำเลยโอนขายกิจการโรงงานน้ำตาลให้บุคคลอื่นในวันเดียวกันโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดได้รับทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างดังกล่าว ซึ่งเป็นการบอกกล่าวที่มิชอบ โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดจึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินระหว่าง 5,450 บาท ถึง 21,620 บาท กับเงินบำเหน็จโดยใช้อายุงานคูณด้วยเงินเดือนสุดท้ายของโจทก์แต่ละคนตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อคำนวณตามเกณฑ์ดังกล่าวแล้วโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จคนละระหว่าง 32,700 บาท ถึง 129,720 บาท โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดทวงถามแล้ว จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะจ่ายเสร็จตามคำขอท้ายฟ้องแต่ละสำนวนแก่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ด

จำเลยทั้งเจ็ดสิบเจ็ดสำนวนให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดเป็นลูกจ้างจำเลยตามวันเข้าทำงานและค่าจ้างอัตราสุดท้ายดังระบุในบัญชีสำหรับรวมการพิจารณาเอกสารหมาย จ.ล.1 โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง กำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันสิ้นเดือน 1 วันโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดเป็นลูกจ้างจำเลยหลังวันที่ 30 พฤษภาคม 2526 และแต่ละคนมีอายุงานเกิน 5 ปี จำเลยออกข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527 วางหลักเกณฑ์การจ่ายเงินบำเหน็จตามเอกสารหมาย จ.ล.2วันที่ 29 มิถุนายน 2541 จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ด โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2541 แต่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดทราบการบอกกล่าวเลิกจ้าง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 ดังนั้น ถ้าจำเลยต้องการให้เลิกสัญญาจ้างกันในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 จำเลยต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนหรืออย่างช้าวันที่ 29มิถุนายน 2541 การที่จำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดในวันที่ 1 กรกฎาคม2541 เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 จึงเป็นการบอกกล่าวที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และไม่เป็นผลให้เลิกสัญญากันในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 ดังระบุไว้ในหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างของจำเลย จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์แต่ละคนรวมคนละ 61 วัน และแม้โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดเรียกมาเพียงคนละ 30 วัน แต่ศาลเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ จึงให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามความจริง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52ส่วนดอกเบี้ยไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดทวงถามเมื่อใด จึงกำหนดดอกเบี้ยให้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้อง โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดเข้าทำงานหลังวันที่ 30 พฤษภาคม 2526 จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยอย่างเดียว หรือค่าชดเชยกับเงินบำเหน็จที่จ่ายเพิ่มในกรณีค่าชดเชยต่ำกว่าเงินบำเหน็จตามที่กำหนดในข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527เอกสารหมาย จ.ล.2 ข้อ 12 ส่วนมติคณะรัฐมนตรีที่ให้กระทรวงการคลังสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น เงินเดือน ค่าชดเชย และเงินบำเหน็จต่อไปนั้น เป็นการวางหลักเกณฑ์ให้ปฏิบัติทั่วไป จำเลยจะจ่ายเงินใดบ้างต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับจำเลย และจำเลยจ่ายเงินตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาลเอกสารหมาย จ.ล.2ให้โจทก์แต่ละคนครบถ้วนแล้วตามบัญชีรายละเอียดเอกสารท้ายคำให้การ พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดคนละเท่ากับค่าจ้าง61 วัน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะจ่ายเสร็จตามบัญชีท้ายคำพิพากษา คำขอนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดสิบเจ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า เมื่อวันที่ 29มิถุนายน 2541 จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดเป็นผลให้เลิกสัญญาจ้างกันวันที่ 1 สิงหาคม 2541 แต่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดลงลายมือชื่อในหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 เพื่อรับทราบไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น การบอกกล่าวเลิกจ้างในวันที่ 29 มิถุนายน 2541 จึงชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2541 จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ด แต่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างในวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 ดังนี้ต้องถือว่าจำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดในวันที่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดได้ทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างคือวันที่ 1 กรกฎาคม 2541และเป็นผลให้เลิกสัญญาจ้างกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าในวันที่30 สิงหาคม 2541 การบอกกล่าวเลิกจ้างดังกล่าวของจำเลยที่ประสงค์ให้เป็นผลเลิกสัญญาจ้างกันในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ประการที่สองว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์แต่ละคนเกินคำขอท้ายฟ้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การที่จำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดในวันที่ 29 มิถุนายน2541 และโจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างในวันที่ 1 กรกฎาคม 2541เป็นผลให้เลิกสัญญาจ้างกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าในวันที่ 30สิงหาคม 2541 ฉะนั้น โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดจึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างคนละ 61 วัน แต่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดบรรยายฟ้องและรับตามคำแก้อุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดได้รับค่าจ้างเดือนสุดท้ายคือเดือนกรกฎาคม 2541 คนละเดือนละ 5,450 บาท ถึง 21,620 บาท และได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในเดือนดังกล่าวไปแล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดจึงยังคงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเฉพาะเดือนสิงหาคม 2541 จำนวน 30 วัน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดยังมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างคนละ61 วันอีก เป็นการพิพากษาให้เกินสิทธิที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับและเกินคำขอท้ายฟ้องจึงไม่เป็นธรรมแก่จำเลย และไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52

สำหรับอุทธรณ์โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดว่า โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเต็มจำนวนตามฟ้อง โดยอ้างว่านอกจากจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ ตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527 ข้อ 12 แล้ว ยังมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามมติคณะรัฐมนตรีด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งเจ็ดสิบเจ็ดเป็นลูกจ้างจำเลยหลังวันที่ 30 พฤษภาคม 2526 สิทธิได้รับค่าชดเชย หรือค่าชดเชยกับเงินบำเหน็จที่ต้องจ่ายเพิ่มในกรณีค่าชดเชยต่ำกว่าเงินบำเหน็จจะมีจำนวนเท่าใด ย่อมเป็นไปตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527ข้อ 12 ส่วน มติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้กระทรวงการคลังพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น เงินเดือน ค่าชดเชย และเงินบำเหน็จต่อไป กับอนุมัติให้นำเงินที่ได้จากการขายโรงงานน้ำตาลไปชำระหนี้ธนาคารกรุงไทย จำกัด และให้นำเงินส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้ส่งคณะกรรมการชำระบัญชีฯ เพื่อดำเนินการจ่ายเงินบำเหน็จและค่าชดเชยแก่พนักงานพร้อมกับดำเนินการในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชำระบัญชีต่อไปนั้น เป็นเพียงการอนุมัติให้กระทรวงการคลังสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ กับให้นำเงินที่ได้จากการขายโรงงานน้ำตาลซึ่งเหลือจากการชำระหนี้ไปจ่ายเป็นค่าชดเชยและเงินบำเหน็จแก่พนักงานที่มีสิทธิได้รับตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527 ข้อ 12 เท่านั้น หาได้อนุมัติให้พนักงานมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและเงินบำเหน็จเพิ่มขึ้นหรือผิดแผกไปจากที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับดังกล่าว ข้อ 12 ไม่ ทั้งจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จให้โจทก์แต่ละคนตามบัญชีรายละเอียดคำนวณบำเหน็จและค่าชดเชยเอกสารท้ายคำให้การถูกต้องครบถ้วนตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาลกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527 ข้อ 12 แล้ว

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 77 เท่ากับค่าจ้างคนละ 30 วัน เป็นเงิน 18,493.50 บาท 9,290.10 บาท15,474 บาท 16,403.10 บาท 13,780.50 บาท 20,922.30 บาท 14,603.10 บาท16,403.10 บาท 13,780.50 บาท 6,232.20 บาท 19,664.40 บาท 16,403.10 บาท13,780.50 บาท 14,603.10 บาท 11,603.10 บาท 14,603.10 บาท 16,403.10 บาท9,822.30 บาท 16,403.10 บาท 16,403.10 บาท 18,493.50 บาท 13,006.20 บาท11,603.10 บาท 16,403.10 บาท 19,664.40 บาท 13,006.20 บาท 17,409.60 บาท16,403.10 บาท 15,474 บาท 6,590.10 บาท 19,664.40 บาท 16,403.10 บาท 6,590.10 บาท 17,409.60 บาท 16,403.10 บาท 13,006.20 บาท 6,590.10 บาท18,493.50 บาท 14,603.10 บาท 6,590.10 บาท 16,403.10 บาท 16,403.10 บาท16,403.10 บาท 16,403.10 บาท 5,274 บาท 5,893.50 บาท 13,780.50 บาท16,403.10 บาท 16,403.10 บาท 18,493.50 บาท 16,403.10 บาท 17,409.60 บาท12,280.50 บาท 14,603.10 บาท 18,493.10 บาท 16,403.10 บาท 17,409.60 บาท16,403.10 บาท 9,822.30 บาท 11,603.10 บาท 9,822.30 บาท 16,403.10 บาท15,474 บาท 14,603.10 บาท 16,403.10 บาท 16,403.10 บาท 9,822.30 บาท20,922.30 บาท 16,403.10 บาท 18,493.50 บาท 15,474 บาท 14,603.10 บาท16,403.10 บาท 16,403.10 บาท 16,403.10 บาท 16,403.10 บาท 14,603.10 บาทตามลำดับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share