คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7061/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 2 ยื่นหนังสือเลิกจ้างให้โจทก์ย่อมเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างที่ไม่ประสงค์จะจ้างโจทก์ให้ทำงานต่อไป จึงเป็นการเลิกจ้างและมีผลสมบูรณ์นับแต่ยื่นหนังสือเลิกจ้างดังกล่าว แม้ภายหลังโจทก์รับหนังสือเลิกจ้างแล้วโจทก์ยื่นหนังสือลาออกให้จำเลยที่ 2ก็มิใช่เป็นการตกลงกันใหม่ให้ถือเป็นการลาออกดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง ดังนี้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานปรับข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนจึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
รายได้พิเศษอื่น ๆ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือผ่านสิทธิและรับรองเงินเดือนเป็นเงินค่าภาษีเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ต่อกรมสรรพากร จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างจึงออกภาษีเงินได้ให้แก่กรมสรรพากรแทนโจทก์ โดยมิได้หักจากเงินเดือนของโจทก์ ดังนี้ภาษีเงินได้ดังกล่าวเป็นเพียงสวัสดิการ และเมื่อเงินดังกล่าวมิใช่เงินที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างจ่ายให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงาน จึงมิใช่ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือ 6 เดือนจำเลยทั้งสองจ่ายให้โจทก์เพียง 3 เดือน ยังคงค้างค่าชดเชยอีก 3 เดือน แต่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือ6 เดือน โดยมิได้ยกเหตุใด ๆ ขึ้นอ้างเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ย่อมไม่ชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 52 ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2534 โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยทั้งสองสัญญาจ้างกำหนดว่าการเลิกจ้างต้องบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า 3 เดือนกำหนดให้ได้รับเงินโบนัสไม่น้อยกว่า 525,000 บาท ต่อปี (หลังจากหักภาษีแล้ว) และกำหนดให้โจทก์มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนโดยได้รับเงินเดือนปีละ 15 วัน ต่อมาวันที่ 17กันยายน 2537 จำเลยทั้งสองมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด และมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า หนังสือเลิกจ้างดังกล่าวมิได้ระบุสาเหตุของการเลิกจ้างอันเป็นการผิดสัญญาและระบุให้โจทก์ออกจากงานทันที จำเลยทั้งสองมีหน้าที่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ 3 เดือน 13 วัน เป็นเงิน 1,197,375 บาท โจทก์ทำงานกับจำเลยทั้งสองติดต่อกันเกินกว่า 3 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย180 วัน หรือ 6 เดือน แต่จำเลยทั้งสองจ่ายให้โจทก์เพียง 3 เดือน คงค้างค่าชดเชยอีก3 เดือนคิดเป็นเงิน 1,046,250 บาท จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมขอเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 2,000,000 บาท และจำเลยทั้งสองมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อน 15 วัน เป็นเงิน 174,375 บาท เงินโบนัสประจำปีสุดท้ายไม่น้อยกว่า 525,000 บาท โจทก์ทำงานมาได้ 9 เดือน เป็นเงินโบนัสตามส่วนเป็นเงิน393,750 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์เรียกร้องทั้งสิ้น 4,811,750 บาท จำเลยทั้งสองต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 2,811,750 บาทนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันก่อนวันฟ้องเป็นเงิน 277,323.29 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,088,152.57 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 3,900,687.50 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 2,092,500 บาทค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 174,375 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จคำขอนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์หรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ขณะที่จำเลยที่ 2 ยื่นหนังสือเลิกจ้างให้โจทก์ โจทก์ก็ยื่นหนังสือลาออกให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดียวกัน เกิดขึ้นพร้อมกันและต่อเนื่องกันแสดงว่า ทั้งสองฝ่ายต่างมีเจตนาที่จะเลิกสัญญาจ้างต่อกัน โจทก์และจำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆต่อกันอีก ศาลแรงงานกลางสรุปข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการปรับข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 2 ยื่นหนังสือเลิกจ้างให้โจทก์ ย่อมเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างที่ไม่ประสงค์จะจ้างโจทก์ให้ทำงานต่อไป จึงเป็นการเลิกจ้างและมีผลสมบูรณ์นับแต่ยื่นหนังสือเลิกจ้างดังกล่าว แม้ภายหลังโจทก์รับหนังสือเลิกจ้างแล้ว โจทก์ยื่นหนังสือลาออกให้จำเลยที่ 2 ก็มิใช่เป็นการตกลงกันใหม่ให้ถือเป็นการลาออกดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง ที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ จึงมิใช่เป็นการปรับข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่งศาลแรงงานกลางสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เป็นข้อที่สองว่า ค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์เดือนละ279,000 บาท มิใช่เดือนละ 348,750 บาท เนื่องจากภาษีเงินได้จำนวนเดือนละ69,750 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ชำระให้กรมสรรพากรแทนโจทก์เป็นเพียงสวัสดิการเท่านั้นจึงมิใช่ค่าจ้างที่โจทก์จะนำไปรวมกับเงินเดือนเป็นค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามที่โจทก์ฟ้องเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างโดยถือหลักอายุงานและอัตราค่าจ้างสุดท้ายเป็นเกณฑ์จ่าย ดังนั้น ค่าชดเชยที่ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับเพียงใดจึงต้องคำนวณจากอายุและค่าจ้างเป็นหลักสำหรับค่าจ้างนั้นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2ก็ได้นิยามศัพท์ไว้ ดังนั้น เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากจำเลยที่ 1 แล้ว ศาลต้องพิจารณาต่อไปว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเป็นจำนวนเงินเท่าใดโดยคำนวณตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นหากเงินรายการใดถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างตามกฎหมายอันพึงนำมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแล้วโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายในเงินจำนวนนั้นได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า โจทก์ได้รับเงินเดือนสุดท้ายสุทธิเดือนละ279,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.8 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบค่าภาษีเงินได้ของโจทก์ เห็นว่า แม้หนังสือผ่านสิทธิและรับรองเงินเดือนเอกสารหมาย จ.2ระบุว่าโจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนละ 279,000 บาท และรายได้พิเศษอื่น ๆ เฉลี่ยต่อเดือนเดือนละ 69,750 บาท แต่บันทึกการจ่ายเงินเดือนเอกสารหมาย จ.8 ระบุเฉพาะเงินเดือนสุทธิของโจทก์เพียง 279,000 บาท เห็นได้ว่าเงินรายได้พิเศษอื่น ๆ ตามที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย จ.2 ก็คือเงินค่าภาษีเงินได้ซึ่งจำเลยที่ 1 รับผิดชอบแทนโจทก์นั่นเอง ที่โจทก์เบิกความว่า ค่าภาษีเงินได้ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นค่าจ้างนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ต่อกรมสรรพากร จำเลยที่ 1 ออกภาษีเงินได้ให้แก่กรมสรรพากรแทนโจทก์โดยมิได้หักจากเงินเดือนของโจทก์ ภาษีเงินได้เฉลี่ยเดือนละ 69,750 บาท ดังกล่าวจึงเป็นสวัสดิการ มิใช่เป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างจ่ายให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงาน จึงมิใช่ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ดังนั้น ค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์จึงเป็นเดือนละ 279,000 บาท

อนึ่ง เฉพาะค่าชดเชยนั้นโจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย180 วัน หรือ 6 เดือน จำเลยทั้งสองจ่ายให้โจทก์เพียง 3 เดือน ยังคงค้างค่าชดเชยอีก3 เดือน แต่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือ 6 เดือน โดยมิได้ยกเหตุใด ๆ ขึ้นอ้างเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ย่อมไม่ชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 837,000 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 139,500 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share