คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6795/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การว่าจ้างขนส่งปุ๋ยสินค้าพิพาทเกิดขึ้นก่อนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับ กรณีจึงนำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยปุ๋ยจากบริษัท จ. และบริษัท อ. ผู้สั่งซื้อปุ๋ยจากประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียอ้างว่าการขนส่งของจำเลยทำให้เกิดความเสียหายแก่ปุ๋ยที่รับขน จำเลยจึงมีสิทธิที่จะนำสืบได้ว่าได้ส่งมอบปุ๋ยสินค้าที่รับขนให้แก่บริษัทผู้สั่งซื้อครบถ้วนแล้ว
การคำนวณน้ำหนักปุ๋ยยูเรียที่ต้นทางใช้วิธีวัดอัตรากินน้ำลึกของเรือก่อนบรรทุกว่าเรือจมลงไปลึกเท่าใดและวัดอีกครั้งเมื่อบรรทุกแล้วอาจผิดพลาดได้ เพราะระดับน้ำทะเลอาจมีคลื่น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าวิธีคำนวณน้ำหนักของปุ๋ยยูเรียที่ท่าเรือต้นทางใช้วิธีวัดอัตรากินน้ำลึก แต่เมื่อปุ๋ยถึงท่าเรือปลายทางจะคำนวณน้ำหนักโดยตักปุ๋ยบรรจุใส่ถุงแล้วนำขึ้นเครื่องชั่งน้ำหนัก ปุ๋ยบางส่วนจึงอาจตกหล่นในการตักได้ ทั้งโจทก์มิได้นำสืบว่าการคำนวณน้ำหนักปุ๋ยด้วยวิธีวัดอัตราน้ำลึกจะได้เท่ากับวิธีตักปุ๋ยบรรจุถุงแล้วนำขึ้นเครื่องชั่งน้ำหนัก ฉะนั้นจึงฟังไม่ได้ว่าปุ๋ยที่จำเลยรับขนน้ำหนักขาดหายไป จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญารับประกันภัยปุ๋ยยูเรียจากบริษัทเจียไต๋ จำกัด และบริษัทอาคเนย์เกษตรกรรม จำกัด ซึ่งบริษัททั้งสองสั่งซื้อจากผู้ขายในประเทศมาเลเซียและประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยผู้ขายว่าจ้างจำเลยเป็นผู้ขนส่งทางทะเลมายังกรุงเทพมหานคร เมื่อเรือของจำเลยที่ใช้ในการส่งปุ๋ยเข้าเทียบท่าเรือกรุงเทพและขนถ่ายปุ๋ยขึ้นจากเรือเรียบร้อยแล้ว ปุ๋ยขาดจำนวนและบางส่วนเปรอะเปื้อน ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเงิน 603,776 บาท โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัทเจียไต๋ จำกัด และบริษัทอาคเนย์เกษตรกรรม จำกัด ไปแล้ว จึงรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยเอาจากจำเลยโดยคิดดอกเบี้ยจากค่าเสียหายอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 638,214.11 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 603,776 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า เมื่อปุ๋ยยูเรียที่จำเลยรับขนถึงท่าเรือกรุงเทพ จำเลยส่งมอบให้แก่บริษัทเจียไต๋ จำกัด และบริษัทอาคเนย์เกษตรกรรม จำกัด ถูกต้องครบถ้วนตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้ตราส่งแล้ว โจทก์คิดค่าเสียหายไม่ถูกต้องและสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 638,214.11 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 603,776 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งว่า บริษัทเจียไต๋ จำกัด และบริษัทอาคเนย์เกษตรกรรม จำกัดซื้อปุ๋ยยูเรียจากประเทศมาเลเซียและประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย รวมน้ำหนักตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.20 ถึง จ.25 จำนวน 15,835,612 เมตริกตัน ซึ่งคำนวณน้ำหนักโดยวิธีวัดอัตรากินน้ำลึกที่ท่าเรือต้นทาง มีปัญหาวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่าปุ๋ยสูญหายเพราะน้ำหนักไม่ครบตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง จำเลยต้องรับผิดชอบในเนื้อความตามใบตราส่งตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติการรบขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าปุ๋ยบรรทุกลงเรือไม่ครบตามจำนวนที่ระบุไว้ จำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งจะต้องบันทึกเป็นข้อสงวนไว้ในใบตราส่ง เมื่อไม่ได้บันทึกข้อสงวน จึงต้องฟังว่าจำเลยรับสินค้าที่ท่าเรือต้นทางไว้ครบถ้วน และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งได้รับของไว้ตามรายการในใบตราส่ง กฎหมายไม่ให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งพิสูจน์เป็นอย่างอื่น เห็นว่า พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ยังไม่มีผลใช้บังคับแก่ข้อพิพาทคดีนี้เนื่องจากมีผลใช้บังคับในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 นำมาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้ จำเลยจึงมีสิทธินำสืบได้ว่า ได้ส่งมอบสินค้าที่รับขนคือปุ๋ยยูเรียให้บริษัทเจียไต๋ จำกัด และบริษัทอาคเนย์เกษตรกรรม จำกัด ครบถ้วนแล้ว ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายดังที่โจทก์ฎีกา

คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยส่งมอบปุ๋ยยูเรียให้บริษัทเจียไต๋ จำกัด และบริษัทอาคเนย์เกษตรกรรม จำกัด ครบถ้วนและไม่เปรอะเปื้อนหรือไม่ ข้อนี้นายสนั่น บุญอากาศ พนักงานของบริษัทแอสโซซิเอท มาริน เซอร์เวเยอร์ส(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับมอบหมายจากบริษัทเจียไต๋ จำกัด และบริษัทอาคเนย์เกษตรกรรม จำกัด ให้สำรวจปุ๋ยยูเรียที่จำเลยรับขนมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าเรือขนส่งลำแรกชื่อว่าเรือบางขุนนนท์ เมื่อเรือมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2535พยานไปสำรวจปรากฏว่าปุ๋ยขาดจำนวนไป 87 ตัน และเปรอะเปื้อนประมาณ 250 กิโลกรัมเหตุที่รู้ว่าส่งมอบปุ๋ยขาดจำนวน ก็โดยดูจากยอดที่บรรจุทั้งหมด และทำการชั่งน้ำหนักที่หน้าท่าและนำไปเทียบกับใบตราส่ง ได้ทำรายงานการสำรวจไว้ตามเอกสารหมาย จ.40เรือลำที่ 2 คือเรือบางขุนพรหมมาถึงท่าเรือกรุงเทพเมื่อประมาณปลายเดือนมกราคม 2535 พยานสำรวจแล้วปรากฏว่าปุ๋ยน้ำหนักขาดจำนวนไปประมาณ 74 ตัน ได้ทำรายงานการสำรวจไว้ตามเอกสารหมาย จ.43 ภาพถ่ายปุ๋ยที่บรรทุกมากับเรือบางขุนพรหม ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.45 และเรือลำที่ 3 คือเรือบางขุนเทียนมาถึงท่าเรือกรุงเทพประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2535 พยานสำรวจแล้วปรากฏว่า ปุ๋ยขาดหายไปจำนวนประมาณ 55 ตัน และเปรอะเปื้อนประมาณ 50 กิโลกรัม ได้ทำรายงานการสำรวจไว้ตามเอกสารหมาย จ.46 เหตุที่รู้ว่าส่งมอบขาดจำนวนก็เพราะดูจากยอดที่ปรากฏทั้งหมดและทำการชั่งน้ำหนักที่หน้าท่าและนำไปเทียบกับใบตราส่งเรือบางขุนพรหมและเรือบางขุนเทียนเมื่อมาถึงท่าเรือกรุงเทพจะนำปุ๋ยที่บรรจุมาชั่งน้ำหนักและบรรจุใส่กระสอบ และเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ลักษณะการขนถ่ายจะตักปุ๋ยขึ้นจากเรือแล้วนำไปใส่กรวยขนาดใหญ่ ปลายกรวยจะมีท่อแล้วนำถุงปุ๋ยไปรองรับปุ๋ยจากท่อบรรจุใส่ถุง เมื่อบรรจุแต่ละถุงเสร็จแล้ว จะนำไปชั่งน้ำหนักทันที แต่ละถุงจะมีน้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัมในกรณีที่ปุ๋ยถุงใดมีน้ำหนักเกินตัดออกแล้วจะนำไปใส่ในภาชนะรองรับปุ๋ยที่มีน้ำหนักเกินดังกล่าว ส่วนที่ตัดออกไปแล้วนี้จะนำไปเติมใส่ถุงปุ๋ยซึ่งน้ำหนักขาดจำนวน การตักปุ๋ยออกในกรณีที่ปุ๋ยเกินและตักใส่ในกรณีที่ขาดจะใช้กะละมังเล็ก ๆ ตัก ซึ่งการตักปุ๋ยดังกล่าวอาจมีปุ๋ยตกหล่นได้บางส่วน ตามรายงานการสำรวจเอกสารหมาย จ.40 และ จ.43 ระบุว่า สภาพสินค้าเมื่อเปิดเหล็กปิดระวางออกแล้ว ไม่มีร่องรอยของน้ำเข้าไปในระวาง สินค้าที่เปรอะเปื้อนเกิดจากสนิมท้องเรือและสีที่ทาท้องเรือ นายชุมพล กัลยาณมิตร นายเรือบางขุนเทียน และนาวาตรีสมพร สุวรรณบุณย์ นายเรือบางขุนนนท์ เบิกความเป็นพยานจำเลยทำนองเดียวกันว่า การคำนวณน้ำหนักปุ๋ยยูเรียที่ต้นทางใช้วิธีวัดอัตรากินน้ำลึกของเรือก่อนบรรทุกว่าเรือจมลงไปลึกเท่าใดและวัดอีกครั้งเมื่อบรรทุกแล้วอาจผิดพลาดได้ เพราะระดับน้ำทะเลอาจมีคลื่นเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยนำสืบว่า วิธีคำนวณน้ำหนักของปุ๋ยยูเรียที่ท่าเรือต้นทางใช้วิธีวัดอัตรากินน้ำลึก แต่เมื่อปุ๋ยถึงท่าเรือปลายทางจะคำนวณน้ำหนักโดยตักปุ๋ยบรรจุใส่ถุงแล้วนำขึ้นเครื่องชั่งน้ำหนัก นายสนั่นพยานโจทก์เองก็เบิกความว่าปุ๋ยบางส่วนอาจตกหล่นในการตักได้ ทั้งโจทก์มิได้นำสืบว่าการคำนวณน้ำหนักปุ๋ยด้วยวิธีวัดอัตราน้ำลึกจะได้เท่ากับวิธีตักปุ๋ยบรรจุถุงแล้วนำขึ้นเครื่องชั่งน้ำหนัก ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าปุ๋ยที่จำเลยรับขนน้ำหนักขาดหายไปตามที่ฟ้อง จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ส่วนปัญหาที่ว่าปุ๋ยเปรอะเปื้อนหรือไม่นั้นปรากฏว่านายสนั่นเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า สินค้าเปรอะเปื้อนเกิดจากสนิมท้องเรือและสีที่ทาท้องเรือ แต่ตามรายงานการสำรวจเอกสารหมาย จ.40 จ.43 และ จ.46 ระบุแต่เพียงว่า สินค้าปนเปื้อนเศษวัสดุสินค้าสกปรกและมีวัสดุเจือปน และสินค้าปนเปื้อนสิ่งสกปรกและเศษวัสดุตามลำดับ ไม่ได้ระบุว่าปนเปื้อนสนิมท้องเรือหรือสีที่ทาท้องเรือ พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่สอดคล้องกัน และตามเอกสารดังกล่าวกลับระบุว่า สภาพของสินค้าเมื่อเปิดเหล็กปิดระวางออกแล้ว ปรากฏว่าไม่มีร่องรอยของน้ำเข้าไปในระวางสินค้า ปรากฏโดยทั่วไปว่าอยู่ในสภาพดีตามภาพถ่ายหมาย จ.45 ก็ปรากฏว่าปุ๋ยมีจำนวนมากและใส่รวมกันมา การขนส่งโดยบรรจุกระสอบละ 50 กิโลกรัมน่าจะต้องใช้เวลานานการปนเปื้อนอาจเกิดจากการบรรจุกระสอบก็เป็นได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าปุ๋ยปนเปื้อนเพราะการขนส่ง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share