คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7476/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2533 ครบ 1 ปี ในวันที่30 มิถุนายน 2534 ซึ่งโจทก์มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีนับแต่เริ่มทำงานในปีถัดมาทุกปีปีละ 10 วัน ตลอดมาจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2539 รวม 6 ปี แต่โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธินั้นดังนั้น โจทก์คงมีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2540 โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม2539 เมื่อนับถึงวันสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2540 อันเป็นวันเลิกจ้างมีผลบังคับเป็นเวลา8 เดือน โจทก์ย่อมมีสิทธิได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 มีกำหนด6.66 วัน หาใช่มีสิทธิได้เต็ม 10 วัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2533 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายท่าเรือ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากปิดกิจการและไม่มีตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะจ้างโจทก์ ซึ่งไม่เป็นความจริง ความจริงจำเลยได้เข้าหุ้นกับบริษัทพีแอนด์โอ คอนเทนเนอร์ จำกัด แล้วเปิดบริษัทใหม่เป็น บริษัทพีแอนด์โอ เน็ดลอยด์จำกัด โดยจำเลยโอนพนักงานบางส่วนไปบริษัทใหม่โจทก์ถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหาย ขอคิดค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างจนถึงวันที่โจทก์เกษียณอายุ 55 ปี รวม 120 เดือน เป็นเงิน 3,660,000 บาท และจำเลยมีระเบียบให้พนักงานที่ทำงานกับจำเลยไม่น้อยกว่า 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 10 วัน โจทก์ยังไม่เคยใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี โดยโจทก์ทำงานมา 6 ปี 8 เดือน มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 60 วัน เป็นเงิน 60,999 บาท แต่จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2540 ให้เพียง 2 วัน เป็นเงิน 2,033 บาท จำเลยต้องจ่ายให้โจทก์อีก 58 วัน เป็นเงิน 58,966 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 58,966 บาท ค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน3,660,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยปิดกิจการด้วยการไปร่วมทุนกับบริษัทพีแอนด์โอ คอนเทนเนอร์ จำกัด เกิดจากสัญญาด้วยความสมัครใจมิได้เกิดจากกฎหมายบังคับให้ต้องรวมตัวกัน จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องให้บริษัทใหม่ที่เกิดจากการรวมตัวกันรับโอนพนักงานไปทั้งหมด แต่เมื่อจำเลยดำเนินการรวมตัวกับบริษัทพีแอนด์โอ คอนเทนเนอร์จำกัด แล้ว จำเลยก็ปิดกิจการของจำเลยและเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์เป็นเงิน 150,000 บาท ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยได้กำหนดไว้ไม่ให้มีการสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อโจทก์ไม่ใช้สิทธิในการลาหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2534 ถึง 2539 โจทก์จึงยังคงมีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับปี 2540 ได้ 10 วัน เมื่อจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์เพียง 2 วัน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์อีก 8 วัน เป็นเงิน 8,133.66 บาท พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายในกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 150,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 8,133.66 บาท แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับปี 2540 ได้เพียง 2 วัน ไม่ใช่ 10 วัน ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยนั้น เห็นว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2533 ครบ 1 ปี ในวันที่ 30 มิถุนายน 2534 ซึ่งโจทก์มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีนับแต่เริ่มทำงานในปีถัดมาทุกปีปีละ 10 วัน ตลอดมาจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2539 รวม 6 ปีแต่โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธินั้น โจทก์คงมีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2540 โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2539 ถึงวันสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2540 อันเป็นวันเลิกจ้างมีผลบังคับเป็นเวลา 8 เดือน ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45มีกำหนด 6.66 วัน คิดเป็นเงิน 6,770.99 บาท หาใช่มีสิทธิได้เต็ม 10 วัน ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่ และไม่ใช่ 2 วัน ดังที่จำเลยอุทธรณ์เช่นเดียวกัน เมื่อจำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์แล้ว เป็นเงิน 2,033 บาท จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์อีกเป็นเงิน 4,737.99 บาท

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน4,737.99 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share