คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1687/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์นำสืบ กฎหมายจีนโดยนำเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งสำเร็จวิชา กฎหมายไทยและเป็นดอกเตอร์ กฎหมายเยอรมันมาเป็นพยานเบิกความว่าพยานได้ทราบ กฎหมายจีนที่อ้างนั้นโดยพยานติดต่อไปทางกระทรวงการต่างประเทศแล้วสถานทูตจีนส่งกฎหมายนั้นมาให้ เช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นให้การของพยานผู้ชำนาญการพิเศษในเรื่อง กฎหมายจีน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเกิดในประเทศไทยบิดาเป็นคนต่างด้าวสัญชาติจีน สมรสกับนายชิ้น แซ่เซี้ย คนต่างด้าวสัญชาติจีนเมื่อ 38 ปีมาแล้ว จำเลยได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตั้งแต่ พ.ศ. 2480 แต่ใบสำคัญขาดอายุมา 10 ปีเศษ จำเลยจึงเป็นคนต่างด้าวไปตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 จำเลยอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่มีใบสำคัญประจำตัว ขอให้ลงโทษ

จำเลยต่อสู้ว่าได้หย่าขาดจากสามีแล้ว ต่อมาภายหลังกลับมาอยู่ด้วยกันโดยไม่เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงยังเป็นคนไทยอยู่

ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยยังไม่ได้หย่าขาดกับสามี โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยมีความจำนงโดยแจ้งชัดว่าจะสละสัญชาติไทย การที่จำเลยมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวปีหนึ่งแต่แล้วต่อมาพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2481 มาตรา 3 บัญญัติว่าหญิงไทยโดยกำเนิดจะไม่ขอรับใบสำคัญประจำตัวก็ได้ จำเลยจึงมีสิทธิไม่ต่ออายุใบสำคัญ จำเลยยังไม่เสียสัญชาติไทย พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยไปขอใบสำคัญประจำตัวโดยถูกบังคับและหลงเข้าใจผิด จำเลยไม่ขาดสัญชาติไทย พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาทั้งปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง โดยผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีรับรอง

ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์นำนายหยุด แสงอุทัย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้สำเร็จวิชากฎหมายไทย และเป็นดอกเตอร์ กฎหมายเยอรมันมาเบิกความว่าพยานได้ไปติดต่อยังกระทรวงการต่างประเทศ ๆ ติดต่อไปยังสถานทูตจีน ๆ ส่งกฎหมายจีน ฉบับ ค.ศ. 1929 มาให้ ตามกฎหมายนี้ถ้าหญิงไปแต่งงานกับคนจีน ย่อมมีสัญชาติจีนตามสามี เว้นแต่จะสงวนสัญชาติเดิมไว้ แต่ไม่ปรากฏว่ากฎหมายนี้ยังใช้อยู่หรือยกเลิกแล้วและตามคำให้การของนายหยุดฟังไม่ได้ว่าเป็นผู้ชำนาญการพิเศษในกฎหมายจีน ฉะนั้นจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้สัญชาติจีนตามสามีตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 มาตรา 4 คงมีสัญชาติไทยอยู่และการที่จำเลยได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวนั้นเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมิได้รับมาโดยสมัครใจ จึงไม่ขาดสัญชาติไทย (อ้างฎีกาที่ 1452/2498) ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share