แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ 2 ฉบับ ฉบับแรกตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ฉบับหลังตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก แต่ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมทั้ง 2 ฉบับเป็นทรัพย์คนละส่วนกัน ตามคำร้องขอของผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องเป็นบุตรคนหนึ่งของผู้ตายและมีสิทธิรับมรดกส่วนหนึ่งของผู้ตายตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารท้ายคำร้อง ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะทายาทของผู้ตาย เมื่อปรากฏว่ามีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกตามที่ผู้ร้องอ้างในคำร้องขอ ผู้ร้องจึงใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อขอตั้งผู้จัดการมรดกได้
การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ 2 ฉบับ ฉบับแรกตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกในทรัพย์มรดกส่วนหนึ่ง และฉบับหลังตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกในทรัพย์มรดกอีกส่วนหนึ่ง แต่ข้อกำหนดในพินัยกรรมทั้งสองฉบับมิได้ขัดกัน จึงไม่มีผลทำให้ผู้ร้องถูกเพิกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อผู้ร้องยังคงมีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับแรก ดังนั้น พินัยกรรมของผู้ตายทั้งสองฉบับย่อมมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย และเมื่อผู้ตายมีความประสงค์ให้ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรมให้แยกจากกันเช่นนี้ จึงไม่สมควรที่ศาลจะตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านคนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว จึงให้ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพื่อจัดการมรดกตามพินัยกรรมแต่ละฉบับตามความประสงค์ของผู้ตาย