คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5244/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 69 ทวิ วรรคห้า เป็นบทบัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนไกล่เกลี่ยเพื่อให้การรังวัดสอบเขต และการออกโฉนดตามแนวเขตที่รังวัดใหม่ซึ่งเปลี่ยนไป สามารถดำเนินการต่อไปได้เพื่อประโยชน์แก่คู่กรณีที่จะได้ทราบแนวเขตที่แท้จริงตามที่ตกลงกัน และถ้าไกล่เกลี่ยแล้วไม่สามารถตกลงกันได้ก็แจ้งให้คู่กรณีไปฟ้องภายใน 90 วัน ถ้าไม่มีการนำคดีไปฟ้องภายในกำหนดดังกล่าวเพียงถือว่าผู้ขอสอบเขตโฉนดที่ดินไม่ประสงค์จะให้ดำเนินการตามคำขออีกต่อไป และทำให้เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจที่จะไม่รังวัดสอบเขตที่ดินต่อไปได้โดยไม่มีความผิดเท่านั้น หาใช่เป็นบทกำหนดวิธีการและขั้นตอนที่ให้ผู้ยื่นคำขอรังวัดต้องปฏิบัติก่อนจึงจะฟ้องคดีได้ไม่ และไม่มีผลทำให้การถูกโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามความจริงไม่เกิดขึ้นหรือหมดไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้จำเลยถอยร่นแนวเขตที่ดินจำเลยออกไปจากที่ดินโจทก์ และห้ามจำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ถือได้ว่าโจทก์มีคำขอให้จำเลยรับรองแนวเขตที่ดินโจทก์นั่นเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าถอยร่นแนวเขตที่ดินของจำเลยทั้งห้าออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3071 ตำบลเสนา อำเภออุทัยใหญ่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว

จำเลยทั้งห้าขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม นางสาวสายหยุดตรีมณี ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาต

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3071 ตำบลเสนา อำเภออุทัยใหญ่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจำเลยทั้งห้ามีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 10100 ตำบลเสนา อำเภออุทัย (อุทัยใหญ่)จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอยู่ติดกับที่ดินโจทก์ด้านทิศตะวันออก มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เบิกความว่า เมื่อวันที่11 พฤศจิกายน 2537 โจทก์ยื่นคำขอสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 3071 ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน โดยนายจรัล พูลศิริ เป็นผู้ไปรังวัดแต่ไม่อาจจะสอบเขตที่ดินได้ เพราะจำเลยทั้งห้านำชี้แนวเขตที่ดินล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ และนายจรัล ผู้รังวัดสอบเขตเบิกความสนับสนุนอีกว่า ได้ไปรังวัดที่ดินโจทก์เมื่อปี 2538 ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าเคยขอแก้ไขเนื้อที่ดินของตนและขอออกโฉนดล้ำที่ดินโจทก์ และจำเลยที่ 5 ก็เบิกความโต้แย้งว่า ที่ดินจำเลยทั้งห้าไม่ได้ล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์แต่ที่ดินโจทก์ล้ำเข้าไปในที่ดินจำเลยทั้งห้า ถือได้ว่าจำเลยทั้งห้าโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ส่วนกรณีที่เจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดสอบเขตแล้ว เจ้าของที่ดินข้างเคียงคัดค้านการรังวัดและไม่มีการไกล่เกลี่ยของเจ้าพนักงานที่ดินนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 69 ทวิ วรรคห้า เป็นบทบัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนไกล่เกลี่ยเพื่อให้การรังวัดสอบเขตและการออกโฉนดตามแนวเขตที่รังวัดใหม่ซึ่งเปลี่ยนไป สามารถดำเนินการต่อไปได้เพื่อประโยชน์แก่คู่กรณีที่จะได้ทราบแนวเขตที่แท้จริงตามที่ตกลงกัน และถ้าไกล่เกลี่ยแล้วไม่สามารถตกลงกันได้ก็แจ้งให้คู่กรณีไปฟ้องภายใน 90 วัน ถ้าไม่มีการนำคดีไปฟ้องภายในกำหนดดังกล่าวเพียงถือว่าผู้ขอสอบเขตโฉนดที่ดินไม่ประสงค์จะให้ดำเนินการตามคำขออีกต่อไป และทำให้เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจที่จะไม่รังวัดสอบเขตที่ดินต่อไปได้โดยไม่มีความผิดเท่านั้น หาใช่เป็นบทกำหนดวิธีการและขั้นตอนที่ให้ผู้ยื่นคำขอรังวัดต้องปฏิบัติก่อนจึงจะฟ้องคดีได้ไม่ และไม่มีผลทำให้การถูกโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามความจริงไม่เกิดขึ้นหรือหมดไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ข้อนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

ส่วนปัญหาว่าที่ดินจำเลยทั้งห้าล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์หรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยก่อน เห็นว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 3071 ของโจทก์ กับโฉนดที่ดินเลขที่ 3074 และโฉนดที่ดินเลขที่ 10100 ของจำเลยทั้งห้าซึ่งแบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงเดียวกัน ได้ออกโดยอาศัยแผนที่ระวางเดียวกันทั้งสิ้น ซึ่งแนวเขตที่ดินโจทก์ด้านทิศตะวันออกที่ติดกับที่ดินจำเลยทั้งห้า และรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินของโจทก์มีลักษณะเหมือนกับแนวและรูปแผนที่ในระวางแผนที่ แต่แนวเขตด้านทิศตะวันตกและรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินของจำเลยทั้งห้ามีลักษณะผิดไปจากที่ปรากฏในระวางแผนที่ดังกล่าวทั้งเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดเพื่อแบ่งแยกที่ดินแปลงหลัก ปรากฏว่าที่ดินแปลงหลักมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 งาน 15 ตารางวา และได้มีการแก้ไขให้ปรากฏตามสารบัญจดทะเบียนท้ายเอกสารดังกล่าว นอกจากนี้นายจรัลผู้รังวัดที่ดินโจทก์เบิกความว่า การรังวัดสอบเขตที่ดินโจทก์ปรากฏว่าแนวเขตที่ดินจำเลยทั้งห้าที่จำเลยที่ 5 เคยขอแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อที่ในภายหลังได้ล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ ทำให้ที่ดินโจทก์มีเนื้อที่ลดลง ซึ่งคำเบิกความของนายจรัลมีเหตุผลสนับสนุนข้อเท็จจริงข้างต้นให้มีน้ำหนักรับฟังได้ยิ่งขึ้นที่จำเลยทั้งห้าอ้างว่าเมื่อจำเลยที่ 5 ยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินแปลงหลักเพื่อแบ่งให้จำเลยที่ 5 และนางประกอบ บัวศรี พี่สาวจำเลยที่ 5 และเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแบ่งแยกตามโฉนดที่ดินเลขที่ 10100 มารดาโจทก์ไประวังแนวเขตและรับรองแนวเขตท้ายฎีกาโจทก์นั้น ปรากฏว่า นางประกอบพี่สาวจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากมารดาโจทก์ไประวังแนวเขตแทน ซึ่งนางประกอบอาจจะรับรองแนวเขตให้ผิดไปจากความจริง เพื่อประโยชน์ของตนเองและจำเลยที่ 5 ก็ได้ การรับรองแนวเขตของนางประกอบผู้รับมอบอำนาจจากมารดา โจทก์หาเป็นข้อชี้ชัดว่านางประกอบได้รับรองแนวเขตถูกต้องตรงกับความจริงไม่ข้ออ้างและพยานหลักฐานของจำเลยทั้งห้าขาดเหตุผลและมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังได้ว่า แนวเขตที่ดินจำเลยทั้งห้าด้านทิศตะวันตกและรูปแผนที่ในเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องตามความจริงและล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นเดียวกัน และที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้าถอยร่นแนวเขตที่ดินจำเลยทั้งห้าออกไปจากที่ดินโจทก์และห้ามจำเลยทั้งห้าเข้าเกี่ยวข้องนั้น ถือได้ว่าโจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งห้ารับรองแนวเขตที่ดินโจทก์นั่นเอง”

พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งห้ารับรองแนวเขตที่ดินโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 3071ตำบลเสนา อำเภออุทัยใหญ่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เอกสารหมาย จ.1 และห้ามมิให้จำเลยทั้งห้าเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวของโจทก์

Share