คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4282/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยยื่นคำแถลงขอคัดคำพิพากษาไว้ล่วงหน้าวันก่อนครบกำหนดอุทธรณ์และเพิ่งมาทราบผลคำพิพากษาโดยย่อหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 1 เดือน ถือเป็นพฤติการณ์พิเศษที่อ้างเพื่อขอให้ศาลขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้ได้เท่านั้น แต่มิใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยไม่สามารถมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แม้ฎีกาของจำเลยจะเป็นสาระแก่คดีแต่ก็ไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากวันที่ 7 เมษายน 2543 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน105,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

วันที่ 9 พฤษภาคม 2543 จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยยื่นคำแถลงขอคัดสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2543 จนกระทั่งบัดนี้จำเลยยังมิได้รับสำเนาคำพิพากษา และจากการติดตามทุกสัปดาห์ก็ยังไม่อาจทราบเหตุและผลคำพิพากษา ครั้นวันที่ 8 พฤษภาคม 2543 จำเลยตรวจสอบจากคอมพิวเตอร์จึงทราบว่าจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี การที่จำเลยมิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนหน้านี้เพราะเหตุดังกล่าวอันเป็นเหตุสุดวิสัย ขอให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 15 วัน

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยยื่นคำแถลงขอคัดคำพิพากษาไว้ล่วงหน้าหลายวันก่อนครบกำหนดอุทธรณ์และเพิ่งทราบผลคำพิพากษาโดยย่อเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2543 แม้ในวันที่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก็ยังมิได้รับสำเนาคำพิพากษาซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ไม่อาจจัดทำอุทธรณ์ได้เป็นเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 นั้น ศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของรองประธานศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดชัดแจ้งแล้วว่า ข้ออ้างดังกล่าวถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษที่จำเลยจะยกขึ้นอ้างเพื่อขอให้ศาลขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้ได้เท่านั้น มิใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยไม่สามารถมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะยื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ฎีกาของจำเลยไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองได้ จึงเป็นฎีกาที่เป็นสาระแก่คดีอันไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง”

พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share