คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6420/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เนื่องจากฟังข้อเท็จจริงว่าหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้มีเพียง 28,466.60 บาท เมื่อโจทก์รับว่าเป็นหนี้จำเลยจำนวน 39,342 บาท และขอหักกลบลบหนี้ จำเลยจึงไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ตามฟ้องจำนวน 63,174.41 บาท จึงมีจำนวนหนี้ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เพียง 34,707.80 บาท ไม่ใช่จำนวน 63,174.41 บาท ถือได้ว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นคดีที่มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224วรรคหนึ่ง
โจทก์ฎีกาขอให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 ก. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นองค์กรของรัฐมีหน้าที่ช่วยซื้อขายผลิตผลทางการเกษตรของเกษตรกรเพื่อพยุงราคาผลิตผลเกษตรกรรมระหว่างปี 2522 และ 2523 รัฐบาลมีนโยบายรับซื้อข้าวเปลือกจากกลุ่มเกษตรกรและจากผู้มีสิทธิขายข้าวเปลือก เมื่อระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม 2522 ถึงวันที่ 29 มกราคม 2523 โจทก์นำข้าวเปลือกเข้าเก็บรักษาไว้ที่ฉางของจำเลย ต่อมาวันที่ 10 กรกฎาคม 2523 โจทก์สั่งให้จำเลยส่งมอบข้าวเปลือกให้แก่โรงสีเกษตรรุ่งเรืองตามสัญญา ปรากฏว่าจำเลยส่งมอบไม่ครบจำนวน เมื่อหักการยุบตัวของข้าวเปลือกตามสัญญา 2% ออก จำเลยจึงยังคงค้างข้าวเปลือกคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 83,674.89 บาท จำเลยจึงผิดสัญญาต้องชดใช้ข้าวเปลือกที่ขาดจำนวนดังกล่าวหรือชดใช้ราคาแก่โจทก์ ซึ่งเมื่อคิดหักกลบค่าเช่าฉางและค่าแรงงานขนข้าวเปลือกเป็นเงิน39,342.24 บาท แล้ว จำเลยคงเป็นหนี้โจทก์จำนวน 44,332.65 บาท โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ราคาข้าวเปลือกที่สูญหายในส่วนที่ค้างชำระเป็นเงิน 44,332.65 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ได้ตกลงทำสัญญาให้โจทก์เช่าฉางของจำเลยเพื่อเก็บข้าวเปลือกของโจทก์จริง แต่โจทก์ฝากข้าวเปลือกชนิด 25% เพียง 112,797 กิโลกรัม และส่งมอบข้าวเปลือกให้โรงสีเกษตรรุ่งเรือง ซึ่งเมื่อหักการยุบตัวของข้าวเปลือกตามสัญญา 2% แล้วข้าวเปลือกที่จำเลยส่งมอบให้แก่โรงสีเกษตรรุ่งเรือง จึงอยู่ในเกณฑ์ที่จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ราคาให้โจทก์ หรือหากต้องรับผิดก็คงรับผิดเพียง 6,316.44 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าข้าวเปลือกแก่โจทก์รวมทั้งสิ้น 28,466.60 บาท เมื่อโจทก์รับว่าเป็นหนี้จำเลยจำนวน 39,342 บาท และขอหักกลบลบหนี้จำนวนดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ 63,174.41 บาท ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่ เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ก็เนื่องจากฟังข้อเท็จจริงว่า หนี้ที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้มีเพียง 28,466.60 บาท เมื่อโจทก์รับว่าเป็นหนี้จำเลยจำนวน 39,342 บาท และขอหักกลบลบหนี้จำนวนดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ขอให้ชำระหนี้ให้โจทก์ตามฟ้องจำนวน 63,174.41 บาท จึงมีจำนวนหนี้ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เพียง 34,707.81 บาท หาใช่ 63,174.41 บาทไม่ จึงต้องถือว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นคดีที่มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาทประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ เพราะโจทก์อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฎีกาขอให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีจึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 ก. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงเสียเกินมา”

พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์

Share