คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1691/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์จำเลยต่อสู้ว่า เครื่องหมายมีลักษณะต่างกัน ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยอ้างว่าเครื่องหมายโจทก์จำเลยต่างกันมาก เมื่อปรากฏว่าคู่ความรับกันในรูปเครื่องหมายแล้ว คงเถียงกันว่าจะเป็นการเลียนหรือไม่ จึงเป็นปัญหาในข้อกฎหมาย คู่ความย่อมอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้
ศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์โดยเห็นว่า ต้องห้าม ศาลฎีกาเห็นว่าอุทธรณ์เป็นปัญหากฎหมายไม่ต้องห้าม ก็ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตราต้นมะพร้าวซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายที่คล้ายกับของโจทก์ ๆ ได้คัดค้านต่อนายทะเบียน นายทะเบียนชี้ขาดว่ายอมรับจดทะเบียนเครื่องหมายของจำเลย โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง ขอให้ศาลสั่งว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายตราต้นมะพร้าวดีกว่าจำเลย และการรับจดทะเบียนเครื่องหมายของจำเลยผิดต่อมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 และให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนของจำเลย

ศาลชั้นต้นเห็นว่า เครื่องหมายของโจทก์จำเลยมีลักษณะแตกต่างกันมาก จึงพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้เป็นมโนสาเร่ โจทก์อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงไม่ได้ จึงพิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์

โจทก์ฎีกาว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมายขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลล่างทั้ง 2

ศาลฎีกาเห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งว่า “เรื่องนี้คู่ความรับกันในรูปเครื่องหมายแล้วคงเถียงกันว่าจะเป็นการเลียนหรือไม่ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้” ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมาย

จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีนี้ใหม่ แล้วพิพากษาตามรูปความ

Share