คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3804/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในการผลิตยาแผนโบราณตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 นอกจากผู้ผลิตจะต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามมาตรา 46 วรรคหนึ่งแล้ว ยังต้องปรากฏว่ายาแผนโบราณที่จะผลิตนั้นต้องเป็นยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้ด้วย ตามมาตรา 72(4)หรือผู้ผลิตได้นำตำรับยานั้นมาขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาแล้ว ตามมาตรา 79 จึงจะผลิตยานั้นได้ แต่หากเป็นการปรุงยาตามตำราที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา 76(1) โดยผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ และเป็นการทำเพื่อขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตนตามมาตรา 47(2) แล้ว ก็สามารถผลิตยานั้นได้โดยไม่ต้องรับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองมิได้ผลิตยาของกลางเพื่อขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตน แม้จำเลยทั้งสองจะได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ กรณีก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 47(2) และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและไม่นำตำรับยาไปขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงไม่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตให้ผลิตยาแผนโบราณได้ตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิด
การจะสอบสวนจำเลยทั้งสองในความผิดฐานใดนั้น ย่อมเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการต่อไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสอบสวน เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจค้นและพิสูจน์ยาของกลางพบว่าเป็นเนื้อเยื่อของพืชและมหาหิงคุ์ซึ่งเป็นยาแผนโบราณ ดังนั้น แม้ ป. จะลงชื่อในคำร้องทุกข์โดยยังไม่ได้กรอกข้อความรายละเอียดต่าง ๆ ลงไปเพราะไม่ทราบว่าจะแจ้งความให้ดำเนินคดีจำเลยในความผิดฐานใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป การสอบสวนจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยทั้งสองเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ผลิตยาแผนโบราณจากผู้อนุญาตตามกฎหมาย เมื่อระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม 2534ถึงวันที่ 4 กันยายน 2534 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตยาโดยยาดังกล่าวมีส่วนผสมเนื้อเยื่อของพืชและมหาหิงคุ์ ซึ่งเป็นยาแผนโบราณตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 เป็นยาเม็ดลูกกลอนใช้ชื่อว่ายาเทวดา จำนวน 1 ถุง และยาเม็ดลูกกลอนไม่มีชื่อ จำนวน 1 ถุง ซึ่งเป็นยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและจำเลยทั้งสองไม่นำตำรับยานั้นมาขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่ใช่เป็นกรณีที่ได้รับการยกเว้นอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เหตุเกิดที่แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานค้นสถานการค้าของจำเลยที่ 1 และยึดยาลูกกลอน จำนวน2 ถุง ซึ่งจำเลยทั้งสองผลิตขึ้นโดยผิดกฎหมายเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 72(4), 79, 122, 123, 126 พระราชบัญญัติยา(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 และริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 72(4), 79, 122, 123 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษหนักเท่ากัน ให้ลงโทษตามมาตรา 122 ให้ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน5,000 บาท ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 2 รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.5 จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ผลิตยาแผนโบราณตามสำเนาใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเภสัชกรรม เอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเวชกรรมและเภสัชกรรมตามสำเนาใบอนุญาตเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 จำเลยทั้งสองได้ดำเนินการผลิตยาแผนโบราณเป็นยาเม็ดลูกกลอน จำนวน 2 ถุง ซึ่งมีผู้อื่นมาว่าจ้างให้จำเลยทั้งสองผลิตตามใบรับบดยาผงและปั๊มเม็ดกับรายการส่วนผสมตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 เจ้าพนักงานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจค้นสถานการค้าของจำเลยที่ 1 พบยาแผนโบราณดังกล่าวเมื่อนำไปตรวจสอบแล้วพบว่ายาของกลางมีส่วนผสมของมหาหิงคุ์ซึ่งถือว่าเป็นยาแผนโบราณ โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและไม่นำตำรับยาไปขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งจำเลยมิได้ผลิตเพื่อรักษาคนไข้ของตนเอง มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ในการผลิตยาแผนโบราณตามพระราชบัญญัติยาฯ นั้น นอกจากผู้ผลิตจะต้องได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง แล้วยังต้องปรากฏว่ายาแผนโบราณที่จะผลิตนั้นต้องเป็นยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้ว ตามมาตรา 72(4) หรือผู้ผลิตได้นำตำรับยานั้นมาขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาแล้วตามมาตรา 79 จึงจะผลิตยานั้นได้ อย่างไรก็ตาม หากเป็นการปรุงยาตามตำราที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา 76(1) โดยผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ และเป็นการทำเพื่อขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตนตามมาตรา 47(2) แล้ว จึงจะสามารถผลิตยานั้นได้โดยไม่ต้องรับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงในคดีนี้ยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองมิได้ผลิตยาของกลางเพื่อขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตน แม้จำเลยทั้งสองจะได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ กรณีก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 47(2) และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและไม่นำตำรับยาไปขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงไม่ได้ใบรับอนุญาตจากผู้อนุญาตให้ผลิตยาแผนโบราณได้ตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองจึงต้องมีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อมาว่า การสอบสวนไม่ชอบเพราะนายประธาน ประเสริฐวิทยาการ เบิกความว่า ขณะลงชื่อในคำร้องทุกข์เอกสารหมาย จ.9 รายละเอียดต่าง ๆ ยังไม่ได้กรอกข้อความลงไป ไม่ทราบว่าจะแจ้งความให้ดำเนินคดีจำเลยในความผิดฐานใด ในประเด็นนี้นายประธานเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ได้ตรวจค้นพบยาของกลางและได้บันทึกการยึดยาเอาไว้ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.8 เมื่อผลการตรวจพิสูจน์พบว่าของกลางเป็นเนื้อเยื่อของพืชและมหาหิงคุ์ ซึ่งเป็นยาแผนโบราณ ผู้บังคับบัญชา จึงมอบหมายให้ไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีตามเอกสารหมาย จ.9 ร้อยตำรวจเอกทรงธรรม ศรีกาญจนา พนักงานสอบสวนเบิกความว่า นายประธานได้มาร้องทุกข์และนำเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.8 มามอบให้เห็นว่า ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายประธานได้รับมอบหมายให้ไปร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนการจะสอบสวนจำเลยทั้งสองในความผิดฐานใดนั้น ย่อมเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการต่อไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสอบสวน ดังนั้นการสอบสวนจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”

พิพากษายืน

Share