คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2492/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์อ้างว่า เช็คฉบับที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเป็นเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายชำระหนี้ตามมูลหนี้เดียวกับเช็คตามฟ้องทั้ง 2 ฉบับ แต่ขณะโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์ยังหาเช็คและใบคืนเช็คฉบับที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องไม่พบ ต่อมาโจทก์พบเช็คและใบคืนเช็คดังกล่าวในแฟ้มเอกสารโจทก์จึงมาขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ถือได้ว่ามีเหตุอันควรและโจทก์ได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องก่อนศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ โจทก์จึงขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่ง และมาตรา 164
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี เรียงกระทงลงโทษ รวมจำคุก 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน รวม 1 ปี 6 เดือน เมื่อผลสุดท้ายศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยกระทงละ 6 เดือน จึงไม่เกินอำนาจผู้พิพากษาคนเดียวตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 และมาตรา 22(5)
จำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง และการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลย่อมลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปได้ โดยโจทก์ไม่ต้องอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) เพราะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ไม่ใช่กฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ให้จำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี เรียงกระทงลงโทษ รวมจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิด 2 กระทงลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยกระทงละ 5 เดือน รวม 2 กระทงเป็นจำคุก 10 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับฎีกาของโจทก์มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่ศาลชั้นต้นสั่งรับเพียงข้อเดียวว่า โจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 และ 164 หรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์อ้างว่า เช็คฉบับที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเป็นเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายชำระหนี้ตามมูลหนี้เดียวกับเช็คตามฟ้องทั้ง 2 ฉบับ แต่ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้โจทก์ยังหาเช็คและใบคืนเช็คฉบับที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องไม่พบ ต่อมาโจทก์พบเช็คและใบคืนเช็คดังกล่าวในแฟ้มเก็บเอกสารเรื่องอื่น โจทก์จึงมาขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องดังนี้ ถือได้ว่ามีเหตุอันควรและโจทก์ได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องก่อนศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ โจทก์จึงขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 163 วรรคหนึ่ง และมาตรา 164 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

ส่วนฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 22 เพราะผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจลงโทษจำคุกได้ไม่เกินหกเดือนแต่คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือน เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี เรียงกระทงลงโทษรวมจำคุก 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน รวม 1 ปี 6 เดือน เมื่อผลสุดท้ายศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยกระทงละ 6 เดือน จึงไม่เกินอำนาจผู้พิพากษาคนเดียว ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 15 และมาตรา 22(5) ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดหลายกระทงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษเรียงกระทง ไม่ได้ขอท้ายฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่าจำเลยบังอาจออกเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบรรทัดทอง ลงวันที่ 28มีนาคม 2537 วันที่ 28 เมษายน 2537 และวันที่ 28 พฤษภาคม 2537 จำนวนเงินฉบับละ 205,000 บาท รวม 3 ฉบับ ให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่ารับเหมาก่อสร้าง เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า บัญชีปิดแล้ว เป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องและการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลย่อมลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปได้ โดยโจทก์ไม่ต้องอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ไม่ใช่กฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด นอกจากนี้ตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ก็ได้อ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 91 มาด้วย ซึ่งศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ดังที่วินิจฉัยมาแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิด 3 กระทง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 5 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 15เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share