แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยยืมเงินโจทก์และสลักหลังเช็คมอบให้โจทก์ไว้เพื่อใช้หนี้ แต่กลับไปแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่าเช็คหายไป นั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นการเสียหายต่อโจทก์โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย และมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสมคบกันโดยจำเลยที่ 1 ออกเช็ค 2 ฉบับโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินหรือในขณะที่ออกไม่มีเงินในบัญชีจำเลยที่ 2 ทราบถึงการออกเช็คนี้ ได้นำเช็ค 2 ฉลับนั้นไปหลอกลวงขอยืมเงินโจทก์ โจทก์หลงเชื่อยอมให้จำเลยที่ 2 ยืมไป 23,700 บาท และให้จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คไว้ ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ไปแจ้งความว่าเช็ค 2 ฉบับหายไปขอให้ลงโทษ
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องในข้อหาฐานแจ้งความเท็จแล้วสั่งว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกข้อหาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ให้จำคุก3 เดือน
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องเพราะการที่จำเลยที่ 2 แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนนั้น มิใช่ความเท็จ และมิได้เสียหายแก่โจทก์อย่างใดนั้น ก็เป็นการเถียงข้อเท็จจริงดุจกัน เพราะเมื่อศาลล่างทั้งสองฟังว่าเช็ครายพิพาทได้ตกมาอยู่ในมือโจทก์ได้อย่างไรเป็นลำดับมา จึงเชื่อว่ามิได้มีการหาย เมื่อจำเลยนำความที่รู้อยู่ว่าไม่เป็นความจริงไปแจ้งเช่นนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการเสียหายต่อโจทก์ผู้ทรงเช็คนั้นโดยตรงอันเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามความในมาตรา 2(4) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลได้ ส่วนจ้อที่จำเลยอ้างว่าเป็นข้อกฎหมายเพราะความผิดฐานแจ้งความเท็จอยู่ในหมวดความผิดต่อเจ้าพนักงานโจทก์จึงฟ้องไม่ได้ ความข้อนี้ เมื่อฟังว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยตรงแล้ว ทั้งไม่มีกฎหมายใดห้ามไว้โดยชัดแจ้งแล้ว โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลย