คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อุ้มกอดพาหญิงไปเพื่ออนาจารเป็นกรรมเดียวผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา284อันเป็นบทเฉพาะไม่ต้องยกมาตรา 278ขึ้นปรับบทลงโทษอีก

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278, 284 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ฉบับที่ 11 ข้อ 9, 10ลงโทษตาม มาตรา 284 บทหนัก จำคุกจำเลยที่ 1 2 ปี จำเลยที่ 2, ที่ 3คนละ 1 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยกอดผู้เสียหายเป็นความผิดตาม มาตรา 278 กรรมหนึ่ง จำคุก 4 เดือน การพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารเป็นความผิดตาม มาตรา 284 อีกกรรมหนึ่งตามกำหนดของศาลชั้นต้น เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 2 ปี 4 เดือน จำเลย 2,ที่ 3 คนละ 2 ปีจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ในชั้นฎีกาคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 อีกกรรมหนึ่งด้วยหรือไม่ เพราะคำพิพากษาของศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278,284 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน2514 ข้อ 9,10 อันเป็นความผิดหลายบท แต่ให้ลงโทษจำเลยตามบทที่หนักที่สุดคือมาตรา 284 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21พฤศจิกายน2514 ข้อ 10 ส่วนศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 278กรรมหนึ่ง และมีความผิดตามมาตรา 284 อีกกรรมหนึ่ง และการที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 ด้วย จะเป็นการเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 หรือไม่ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่า ขณะที่ผู้เสียหายกับจำเลยเดินสวนทางกัน จำเลยร่วมกันอุ้มกอดพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าว เห็นว่าการที่จำเลยเข้าอุ้มกอดผู้เสียหายก็โดยมีเจตนาที่จะพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งเป็นการกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียว แต่ความผิดฐานกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา 278 นั้น เป็นความผิดตามมาตรา 284อันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องยกมาตรา 278 ขึ้นปรับบทลงโทษจำเลยอีกตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 2770/2519 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานี โจทก์ นายสมศรี เทพนวล กับพวก จำเลย เมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในประเด็นข้ออื่นต่อไป และคดีนี้แม้จำเลยที่ 2 จะถอนฎีกา แต่เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284,83 ส่วนการกำหนดโทษและลดโทษคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”

Share