คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 186/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสารบนเส้นทางสายหนึ่งและจำเลยได้นำรถยนต์มาวิ่งรับส่งผู้โดยสารบนเส้นทางดังกล่าว เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยละเมิดสิทธิของโจทก์โจทก์ชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลเพื่อขจัดข้อโต้แย้งและแสดงสิทธิของโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
พระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ.2497 มาตรา 14 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะเข้าทำการขนส่งในเส้นทางใดในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งประจำทางในเส้นทางสายนั้นมีความมุ่งหมายที่จะควบคุมการขนส่งคนโดยสารโดยรถยนต์โดยสาร เพื่อมิให้เกิดการแก่งแย่งกับรถโดยสารประจำทางแม้จำเลยจะได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะตามมาตรา 11(2) แต่เมื่อจำเลยนำรถยนต์มาวิ่งรับคนโดยสารและเก็บค่าโดยสารเป็นรายตัวเช่นเดียวกับโจทก์เป็นการทับเส้นทางของโจทก์โดยมิใช่ในลักษณะเหมาทั้งคันหรือในลักษณะรถทัศนาจรย่อมถือว่าเป็นลักษณะของการแข่งขันและฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 14ดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสารจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่มีระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2513 เมื่อปลายปี 2516 จำเลยได้นำรถยนต์เข้าทำการขนส่งในเส้นทางดังกล่าวในลักษณะแข่งขันกับโจทก์ตลอดมา โดยโฆษณาในลักษณะรถทัศนาจร แต่ความจริงได้ประกอบการขนส่งเป็นประจำ มีกำหนดเวลาและสถานที่ออกรถแน่นอน เก็บค่าโดยสารเช่นเดียวกับรถยนต์โดยสารประจำทาง ทั้งมิได้นำหรือพาผู้โดยสารไปทัศนาจร ณ สถานที่แห่งใดเลย เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 และละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะผู้โดยสารที่จะต้องไปกับรถโจทก์ได้ไปโดยสารรถจำเลย คิดวันละ 4 เที่ยว เป็นเงิน 18,560 บาท ขอให้ห้ามจำเลยและบริวารเข้าทำการขนส่งบนเส้นทางดังกล่าวในลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์ต่อไป กับให้ใช้ค่าเสียหายวันละ 18,560 บาทแก่โจทก์ถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะหยุด

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งสาธารณะหรือเพื่อสินจ้างโดยไม่จำกัดเส้นทาง การจัดรถยนต์ทัศนาจรในกิจการของจำเลยเดินได้ทั่วราชอาณาจักร ไม่รับหรือหยุดส่งผู้โดยสารตามทาง ผู้โดยสารของจำเลยถือว่าเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยจากต้นทางให้พาไปทัศนาจรตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งไปและกลับ ส่วนการประกอบการขนส่งของโจทก์รับส่งผู้โดยสารตามรายทางตามความประสงค์ของผู้โดยสารและจำกัดเส้นทางเดินรถ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ประกอบการขนส่งแข่งขันกับโจทก์

ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยนำรถยนต์วิ่งบนเส้นทางของโจทก์วันละ 2 เที่ยวจึงเป็นละเมิด พิพากษาห้ามจำเลยและบริวารเข้าทำการขนส่งบนเส้นทางจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับโจทก์ และให้ใช้ค่าเสียหายวันละ 800 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสารบนเส้นทางจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่จำเลยได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งสาธารณะด้วยรถยนต์โดยสารโดยมีวัตถุประสงค์ทำการบริการท่องเที่ยวต่าง ๆ จำเลยได้นำรถยนต์วิ่งบนเส้นทางดังกล่าวของโจทก์ แล้ววินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า โจทก์ได้รับอนุญาตจากทางการให้ประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสารบนเส้นทางสายที่ 18 หมวด 2 จากกรุงเทพฯถึงเชียงใหม่ (ข) และจำเลยได้นำรถยนต์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งสาธารณะมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารบนเส้นทางดังกล่าวของโจทก์เป็นประจำ เห็นได้ชัดว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยละเมิดสิทธิของโจทก์ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์จึงชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลเพื่อขจัดข้อโต้แย้งและแสดงสิทธิของโจทก์เกี่ยวกับเส้นทางที่โจทก์ได้รับอนุญาตจากทางการได้ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

ที่จำเลยฎีกาว่า การประกอบการขนส่งผู้โดยสารของจำเลยไม่ได้เป็นการแข่งขันกับโจทก์ เพราะจำเลยมิได้เก็บค่าโดยสารเป็นรายตัวตามรายทางอย่างเดียวกับโจทก์ อัตราค่าโดยสารของจำเลยมีอัตราเดียว สถานที่รับส่งผู้โดยสารห่างจากสถานีขนส่งของโจทก์เกินกว่า 100 เมตรนั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 14 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะเข้าทำการขนส่งในเส้นทางใดในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งประจำทางในเส้นทางสายนั้นแม้จำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะมีสิทธิทำการขนส่งเพื่อสินจ้างโดยไม่จำกัดเส้นทางตามมาตรา 11(2) ก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่าจำเลยมิได้วิ่งรับจ้างในลักษณะเหมาทั้งคันหรือจัดในลักษณะรถทัศนาจรบนเส้นทางของโจทก์ กล่าวคือจำเลยรับคนโดยสารจากกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ และจากเชียงใหม่ – กรุงเทพฯ โดยเก็บค่าโดยสารเป็นรายตัวอย่างเดียวกับรถยนต์ของโจทก์ และเมื่อพิจารณาถึงความมุ่งหมายแห่งบทบัญญัติดังกล่าวตลอดจนความในพระราชกฤษฎีกาที่โจทก์อ้างอิงแล้ว เห็นได้ว่ากฎหมายประสงค์จะควบคุมการขนส่งคนโดยสารโดยรถยนต์โดยสาร เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแก่งแย่งกับรถโดยสารประจำทาง ซึ่งจะทำให้เกิดอุบัติเหตุยังความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของบุคคลทั่วไป ฉะนั้นการที่จำเลยนำรถยนต์มาวิ่งรับคนโดยสารและเก็บค่าโดยสารเป็นการทับเส้นทางรถประจำทางในสัมปทานของโจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 14 ย่อมถือว่าเป็นลักษณะของการแข่งขัน โดยไม่จำเป็นว่าจะมีการรับและเก็บค่าโดยสารเป็นรายตัวตามรายทางอย่างเดียวกับโจทก์หรือไม่ และสถานที่ประกอบกิจการรับผู้โดยสารของจำเลยจะตั้งอยู่อย่างไร เมื่อจำเลยประกอบการขนส่งด้วยรถยนต์อันเป็นการแข่งขันกับโจทก์ผู้มีสิทธิทำการขนส่งประจำทางในเส้นทางที่โจทก์ได้รับอนุญาตจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์

พิพากษายืน

Share