แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือที่เรียกว่าสัญญาโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ แต่ข้อความแสดงว่าผู้โอนไม่มีเจตนาโอนความเป็นเจ้าของรถยนต์ให้แก่ผู้รับโอน
โจทก์กับจำเลยทำหนังสือสัญญาไว้ต่อกัน มีความหมายว่าโจทก์ยอมให้รถยนต์เป็นประกันเงินที่โจทก์รับล่วงหน้าไป แต่คู่กรณีก็ตกลงให้รถยนต์อยู่ที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของ พฤติการณ์เช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการจำนำ จำเลยจึงไม่มีอำนาจยึดถือรถยนต์ในฐานะผู้รับจำนำ ไม่มีสิทธิไปยึดเอารถยนต์ของโจทก์ตามลำพัง เมื่อไปยึดมาจึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องเรียกรถยนต์คืนจากจำเลยและเรียกค่าเสียหาย ได้ความว่าเอกสารเกี่ยวกับรถยนต์รายพิพาทที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อกัน ตั้งชื่อเรื่องว่าสัญญาโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ แล้วมีข้อความว่า ตามสัญญาซื้อขายไม้ซุงลงวันที่ ฯลฯ ผู้โอนในสัญญานี้ (โจทก์) ซึ่งเป็นผู้ขายในสัญญาดังกล่าว ได้เบิกเงินล่วงหน้าไปใช้ก่อนแล้วเป็นจำนวนเงิน 156,290.00 บาทฯลฯ เพื่อค้ำประกันจำนวนเงินดังกล่าวนี้ ผู้โอน (โจทก์) ขอมอบกรรมสิทธิ์รถยนต์หมายเลข ฯลฯ รวม 3 คัน ตีราคาเป็นเงิน 100,000 บาท ฯ ให้แก่ผู้รับโอน (จำเลยที่ 1) และยินยอมให้ผู้รับโอนตีทะเบียนกรรมสิทธิ์รถยนต์ในนามของผู้รับโอนได้ และผู้รับโอน (จำเลยที่ 1) ยินยอมให้ผู้โอน (โจทก์) นำรถทั้ง 3 คันนี้ไปใช้ในการชักลากไม้ซุงตามสัญญาซื้อขายไม้ซุง (ฉบับลงวันที่ดังกล่าวข้างต้น) ได้ตลอดไป จนกระทั่งนำไม้ซุงมาส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อครบถ้วนตามสัญญา ถ้าหากรถทั้ง 3 คันนี้เกิดชำรุดเสียหายด้วยประการใด ๆ ก็ดี ผู้โอน (โจทก์) ยินดีซ่อมแซมและออกค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้นและหากเกิดอุบัติเหตุใด ๆ ในระหว่างที่นำไปใช้นี้ ผู้รับโอน (จำเลยที่ 1) จะไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อผู้โอนได้ทำไม้ซุงส่งมอบให้แก่ผู้รับโอนครบถ้วนตามสัญญาซื้อขายไม้ซุง และพอกับจำนวนเงินซึ่งผู้โอนได้เบิกไปล่วงหน้าไปแล้วจนครบ และหากจะมีเบิกไปอีกภายหลังเท่าไร จะต้องนำไม้ซุงส่งให้ผู้รับโอนจนครบตามจำนวนเงินที่เบิกไปหากส่งไม้ซุงไม่ครบตามจำนวนเงิน ยังขาดอยู่อีกเท่าไร ผู้โอนจะต้องนำเงินมาชำระให้จนครบแล้วผู้รับโอน (จำเลยที่ 1) สัญญาว่าจะโอนรถยนต์ดังกล่าวทั้ง 3 คันให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้โอนตามเดิมเงินที่ผู้โอน ๆ เบิกล่วงหน้าไปนั้น หากผู้โอนนำไม้มาส่งไม่ครบตามจำนวนภายในปีแห่งสัญญา ผู้รับโอนจะคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ยังค้างอยู่ในปีต่อไป ดังนี้ ศาลชั้นต้นเห็นว่า เป็นการโอนรถให้จำเลยที่ 1 เพื่อประกันเงินที่โจทก์เบิกล่วงหน้ามาเท่านั้น จำเลยที่ 1 หามีเจตนาจะเอารถเป็นกรรมสิทธิ์ไม่ เมื่อจำเลยไปยึดเอามา จำเลยที่ 1 ก็ต้องใช้ค่าเสียหายและคืนรถให้โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นในปัญหาข้อนี้
จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหานี้
ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารนี้ไม่มีข้อความให้ถือเอาเงินที่โจทก์รับล่วงหน้าเป็นค่าโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ และไม่มีข้อความว่าถ้าโจทก์ส่งไม้ไม่ครบตามสัญญาซื้อขายหรือไม่คืนเงินที่รับล่วงหน้า ให้เอารถยนต์หักกับเงินที่รับล่วงหน้า ฉะนั้น ถ้าหากถือว่าสัญญานี้หมายความว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตกเป็นของจำเลยที่ 1 โดยเด็ดขาดก็หมายความว่าจำเลยที่ 1 ได้เป็นเจ้าของรถยนต์ราคาแสนบาทโดยไม่ต้องเสียเงินราคาค่าซื้อหรือมีอะไรเป็นค่าตอบแทน โจทก์และจำเลยที่ 1 คงไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น เอกสารนี้ก็ระบุไว้ชัดว่าเพื่อค้ำประกันเงินที่โจทก์เบิกล่วงหน้าไป จึงเห็นว่า เอกสารนี้มีความหมายถึงการมอบรถยนต์ให้เป็นประกันเงินที่โจทก์เบิกล่วงหน้าไปจากจำเลยที่ 1ไม่ใช่มีเจตนาโอนความเป็นเจ้าของรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 ฉะนั้น รถยนต์รายพิพาทจึงเป็นของโจทก์ไม่ใช่ของจำเลยที่ 1
ตามเอกสารนี้มีความหมายว่า โจทก์ยอมให้รถยนต์เป็นประกันเงินที่โจทก์รับล่วงหน้าไป แต่คู่กรณีก็ตกลงให้รถยนต์อยู่ที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของ พฤติการณ์ดังกล่าวนี้ไม่ถือว่าเป็นการจำนำ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจยึดถือรถยนต์ในฐานะเป็นผู้รับจำนำ ข้อความในเอกสารนี้ก็ไม่ได้ให้อำนาจที่จะเข้ายึดถือเอารถยนต์ของโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิไปยึดเอารถยนต์ของโจทก์ตามลำพัง เมื่อไปยึดมาจึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องคืนรถยนต์ และรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
พิพากษายืน