คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4251/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์ใช้ถ้อยคำบางตอนว่าฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระ แต่ก็ได้กล่าวด้วยว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากจำเลยไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าคืนและครอบครองใช้ทรัพย์สินที่เช่าตลอดมา อันเป็นการผิดสัญญาเช่าที่โจทก์และจำเลยทำไว้ต่อกันและจำเลยตกลงชำระค่าเสียหายดังกล่าวรวมทั้งค่าขาดราคาทรัพย์สินที่เช่าเมื่อได้มีการเลิกสัญญานั้นแล้วด้วย กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยอาศัยเหตุมาจากการเลิกสัญญาเช่าเป็น 2 ประการ คือ ค่าเสียหายที่โจทก์ผู้ให้เช่าต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และค่าขาดราคาทรัพย์สินที่เช่า ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30เมื่อโจทก์เข้ายึดถือครอบครองเอาคืนซึ่งหัวรถยนต์บรรทุกที่เช่าเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม2540 สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันเลิกกันนับแต่วันดังกล่าว โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2542 ยังไม่พ้นสิบปี จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าหัวรถบรรทุกยี่ห้อเรโนลด์ หมายเลขทะเบียน 91-9213 กรุงเทพมหานครจากโจทก์ เป็นเงินค่าเช่ารวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 2,967,840 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน รวม 48 งวด งวดละ 61,830 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์เพียง 6 งวดเศษ แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์อีกเลย โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 เพิกเฉยและไม่ยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าดังกล่าวคืน โดยครอบครองใช้ทรัพย์สินที่เช่าของโจทก์ตลอดมาอันเป็นการผิดสัญญาเช่าซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ตกลงไว้ว่า หากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงเนื่องจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ไม่ว่าด้วยเหตุใด จำเลยที่ 1 ยอมชำระค่าเสียหายทั้งปวงอันเกิดขึ้นเพราะการผิดสัญญานั้น และหากขายทรัพย์สินที่เช่าได้ไม่คุ้มราคาค่าเช่า จำเลยที่ 1 ยอมชดใช้เงินให้แก่ผู้ให้เช่าจนครบถ้วน โจทก์ติดตามยึดหัวรถบรรทุกที่เช่าคืนมาได้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2540 ในสภาพเสื่อมโทรม เมื่อนำออกขายทอดตลาดจึงได้ราคาเพียง 500,000 บาท ทำให้โจทก์เสียหายขาดราคาไป 2,065,128 บาท จำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าเสียหายนับถึงวันที่โจทก์ได้หัวรถบรรทุกที่เช่าคืน รวมเวลา 16 เดือนเศษ ในอัตราเดือนละ 61,830 บาท รวมเป็นเงิน 1,019,378 บาท โดยเมื่อหักเงินประกันการเช่า 336,448.60 บาท ที่โจทก์มีสิทธินำมาหักได้ตามสัญญาแล้ว คงเหลือค่าเช่าที่ค้างชำระ 682,929.40 บาท และต้องร่วมกันรับผิดชำระราคาทรัพย์ที่ยังขาดอยู่อีก 2,065,128 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 2,748,057.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นกรณีเรียกร้องค่าเช่าที่ค้างชำระซึ่งมีกำหนดอายุความสองปี และค่าเสียหายอันเกี่ยวแก่สัญญาเช่าซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์และมีกำหนดอายุความ 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(6)และมาตรา 563 ตามลำดับ คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ และจำเลยทั้งสี่ขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 1,900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 สิงหาคม 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินประกันการเช่า 336,448.60 บาท ที่จำเลยที่ 1 ได้วางไว้แก่โจทก์มาคำนวณหักออกให้ด้วย

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกาสรุปใจความได้ว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2539 สัญญาเช่าเลิกกันเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2540 อันเป็นวันที่ส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าแก่โจทก์ โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าเช่าที่ค้างชำระได้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2539 แต่โจทก์เพิ่งมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2542 เกินกำหนด 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ และเมื่อสิทธิเรียกร้องค่าเช่าซึ่งเป็นหนี้ประธานขาดอายุความแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการเอาทรัพย์สินที่เช่านั้นไปให้ผู้อื่นเช่าและไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดราคาด้วย ทั้งนี้ เพราะต่างเป็นหนี้อุปกรณ์ซึ่งย่อมขาดอายุความไปตามหนี้ประธาน เห็นว่า แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะใช้ถ้อยคำบางตอนว่าฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ก็ได้กล่าวบรรยายฟ้องด้วยว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าคืนและครอบครองใช้ทรัพย์สินที่เช่าของโจทก์ตลอดมา อันเป็นการผิดสัญญาเช่าที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อกัน และจำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าเสียหายดังกล่าวรวมทั้งค่าขาดราคาทรัพย์สินที่เช่าเมื่อได้มีการเลิกสัญญานั้นแล้วด้วยกรณีจึงถือได้ว่าข้อที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องมานั้นเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยอาศัยเหตุมาจากการเลิกสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และถือได้ว่าตามคำฟ้องของโจทก์ได้เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่เป็น 2 ประการ คือ ค่าเสียหายที่โจทก์ผู้ให้เช่าต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการเอาทรัพย์สินที่เช่าออกให้เช่าประการหนึ่ง และค่าขาดราคาทรัพย์สินที่เช่าอีกประการหนึ่ง ซึ่งค่าเสียหายทั้งสองกรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ คดีจึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เข้ายึดถือครอบครองเอาคืนซึ่งหัวรถบรรทุกที่เช่า เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2540 สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันเลิกกันนับแต่วันดังกล่าว โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2542 ยังไม่พ้นกำหนดสิบปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share