แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำว่า “วีรบุรุษ” ตามพจนานุกรม หมายความว่า ชายที่ได้รับการยกย่องว่ามีความกล้าหาญ คำว่า “คนมีสี” เป็นที่เข้าใจของบุคคลทั่วไปว่าหมายถึงข้าราชการตำรวจและทหารทุกระดับชั้นยศ ส่วนคำว่า “นายพล” เป็นตำแหน่งของข้าราชการตำรวจและทหารการที่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ลงพิมพ์ข้อความในคอลัมน์ หนังสือพิมพ์ข่าวสดว่า “การที่ข่าวสดถูกคนร้ายโยนระเบิด… จะเป็นการกระทำของวีรบุรุษซาตาน… หรือใครก็ตาม… ไม่ว่าจะเป็นคนมีสีหรือไม่มีสีก็ตาม ผู้บงการจะต้องถูกลงโทษไม่มีการยกเว้น” และข้อความว่า “สงสัยว่าเป็นนายพลเงินเดือนไม่มากมายแต่ทำไมมีเงิน..จ่ายดอกเบี้ยเป็นล้านถึงบางอ้อเมื่อทราบว่ารายได้จากการแข่งม้านัดเดียวก็กินถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน” นั้น ไม่มีตอนใดที่ระบุว่าเป็นโจทก์หรือทำให้เข้าใจว่าเป็นโจทก์ ทั้งโจทก์เองก็รับว่าก่อนเกิดเหตุหนังสือพิมพ์ข่าวสดลงข่าวเกี่ยวกับโจทก์ติดต่อกันเป็นเวลานานโดยระบุตัวโจทก์ตรง ๆ ไม่ต้องแปลหรือทำความเข้าใจเองว่าหมายถึงใคร ดังนั้น หากจำเลยทั้งหกประสงค์จะให้ถ้อยคำดังกล่าวชี้ชัดเฉพาะเจาะจงเป็นการยืนยันว่าเป็นโจทก์ ก็น่าจะกล่าวถึงตัวโจทก์โดยระบุตรง ๆ เหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ข้อความตามที่จำเลยทั้งหกลงพิมพ์ดังกล่าวจึงฟังไม่ได้ว่าเป็นโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 136,90, 91, 83, 50 และพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 48, 49 และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันลงพิมพ์โฆษณาคำพิพากษาของศาลทั้งหมดครึ่งหน้าลงบนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ เดอะเนชั่น แนวหน้า ข่าวสด มติชน บางกอกโพสท์ เป็นเวลา30 วัน โดยให้จำเลยทั้งหกเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย กับห้ามจำเลยทั้งหกประกอบอาชีพเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษตามคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์รับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์พิมพ์หนังสือพิมพ์ข่าวสดและสิ่งพิมพ์อื่นจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ยังเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์ข่าวสด จำเลยที่ 4 เป็นนักเขียนในคอลัมน์ข่าวข้นคนเข้ม ใช้นามปากกาว่าสันตะวา จำเลยที่ 5 เป็นนักเขียนในคอลัมน์ชุมทางปัญหา ใช้นามปากกาว่า คาน คอดิน จำเลยที่ 6 เป็นนักเขียนในคอลัมน์ชกไม่มีมุม ใช้นามปากกาว่า วงค์ ตาวัน และคอลัมน์ยุทธจักรแปดแฉก ใช้นามปากกาว่า พิทักษ์ 001 เมื่อวันที่ 2สิงหาคม 2542 จำเลยทั้งหกได้ลงพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 ในคอลัมน์ชุมทางปัญหาความว่า “รู้สึกสลดใจและเสียความรู้สึกเป็นอย่างยิ่งที่ข่าวสดถูกคนร้ายโยนระเบิดใส่สำนักงานจนเกิดความเสียหาย และเสียขวัญจากการข่มขู่คุกคามของคนมีสีบางคนเพื่อให้ข่าวสดหยุดเล่นข่าวที่เป็นความจริง แต่เราเชื่อว่าอุดมการณ์และความตั้งใจในการเสนอข่าวอย่างเที่ยงตรงจะไม่เปลี่ยนแปลง และเราจะติดตามให้กำลังใจข่าวสดตลอดไป จะเป็นการกระทำของวีรบุรุษซาตาน นักร้องเพลงเพื่อชีวิตตัวเองหรือใครก็ตามเราขอประฌามการกระทำครั้งนี้ว่าเลวทรามป่าเถื่อน ขอให้รัฐบาลออกมารับผิดชอบอย่างจริงจัง เร่งสืบสวนหาผู้กระทำผิดทุกระดับมาลงโทษให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคนมีสีหรือไม่มีสีก็ตาม และผู้บงการอยู่เบื้องหลังจะต้องถูกลงโทษโดยไม่มีการยกเว้น…” และเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2542 จำเลยทั้งหกได้ลงพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 ในคอลัมน์ชุมทางปัญหา ความว่า “ครั้งแรกผมสงสัยว่าเป็นนายพลเงินเดือนก็ไม่มากมาย ทำไมมีเงินมีทองจ่ายเอาดอกเบี้ยเป็นล้าน คิดว่าเขาคงมีธุรกิจเป็นรายได้เสริมผมเพิ่งมาถึงบางอ้อเมื่อทราบว่ารายได้จากการแข่งขันม้านัดเดียวก็กินถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน…”มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อความที่จำเลยทั้งหกลงพิมพ์ดังกล่าวหมายถึงโจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ข้อความดังกล่าวหมายถึงโจทก์ เพราะข่าวเกี่ยวกับสำนักงานของจำเลยที่ 1 โดนระเบิดนั้น หนังสือพิมพ์ข่าวสดได้ลงข่าวหน้าหนึ่งหลายวันติดต่อกันมีข้อความว่าสาเหตุน่าจะมาจากกรณีพิพาทอย่างรุนแรงกับโจทก์ คำว่าวีรบุรุษซาตานหมายถึงโจทก์ ซึ่งจำเลยทั้งหกเคยลงข่าวเกี่ยวแก่โจทก์ติดต่อกันเป็นเวลานานทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุหนังสือพิมพ์ข่าวสดก็ลงข่าวโจทก์รับเงิน 60,000,000 บาท เพื่อปราบโต๊ดเถื่อนในสนามม้า เห็นว่า คำว่าวีรบุรุษตามพจนานุกรมฯ หมายความว่า ชายที่ได้รับยกย่องว่ามีความกล้าหาญ คำว่า คนมีสีเป็นที่เข้าใจของบุคคลทั่วไปว่าหมายถึงข้าราชการตำรวจและทหารทุกระดับชั้นยศ ส่วนคำว่า นายพลนั้นเป็นตำแหน่งของข้าราชการตำรวจและทหาร เมื่ออ่านถ้อยคำตามที่โจทก์กล่าวอ้างโดยตลอดแล้ว ไม่มีตอนใดระบุว่าเป็นโจทก์หรือทำให้เข้าใจว่าหมายถึงโจทก์ ประกอบกับปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่าทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุ หนังสือพิมพ์ข่าวสดลงข่าวเกี่ยวกับโจทก์ติดต่อกันเป็นเวลานานกล่าวถึงตัวโจทก์โดยระบุตรง ๆ ไม่ต้องให้ผู้อ่านต้องแปลหรือทำความเข้าใจเองว่าหมายถึงใคร ดังนั้น หากจำเลยทั้งหกประสงค์จะให้ถ้อยคำดังกล่าวชี้ชัดเฉพาะเจาะจง เป็นการยืนยันว่าเป็นโจทก์ ก็น่าจะกล่าวถึงตัวโจทก์โดยระบุตรง ๆ เหมือนหลาย ๆครั้ง ดังกล่าว ข้อความตามที่จำเลยทั้งหกลงพิมพ์ตามคำฟ้องจึงฟังไม่ได้ว่าหมายถึงโจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน