แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ปัญหาที่ว่าหนังสือสัญญากู้เงินเป็นนิติกรรมอำพรางการเข้าเป็นหุ้นส่วนในกองทุนที่จำเลยจัดตั้งหรือไม่ จำเลยมิได้ให้การเป็นประเด็น แม้จะได้นำสืบในชั้นพิจารณา ก็เป็นการสืบนอกคำให้การเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 การที่จำเลยฎีกาว่าหนังสือสัญญากู้เงินเป็นนิติกรรมอำพรางการเข้าเป็นหุ้นส่วนในกองทุนที่จำเลยจัดตั้ง เท่ากับเป็นการฎีกาให้รับฟังพยานหลักฐานของจำเลยว่าจำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ แต่ได้ทำสัญญากู้เงินเพื่ออำพรางการเข้าเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ในกองทุนของจำเลยอันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 249
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 จำเลยกู้เงินโจทก์ที่ 1 จำนวน200,000 บาท และกู้เงินโจทก์ที่ 2 จำนวน 150,000 บาท ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวน 389,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี จากต้นเงิน 350,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ทั้งสอง และสัญญากู้เงินระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ 3 ต่อเดือน เป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 200,000 บาท และชำระหนี้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2542 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยต่อไปมีว่า หนังสือสัญญากู้เงินเป็นนิติกรรมอำพรางเข้าเป็นหุ้นส่วนในกองทุนที่จำเลยจัดตั้งหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีเป็นประเด็นไว้ แม้จะได้นำสืบในชั้นพิจารณา ก็เป็นการสืบนอกคำให้การ เป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 การที่จำเลยฎีกาว่าหนังสือสัญญากู้เงินเป็นนิติกรรมอำพรางการเข้าเป็นหุ้นส่วนในกองทุนที่จำเลยจัดตั้ง เท่ากับเป็นการฎีกาให้รับฟังพยานหลักฐานของจำเลยว่า จำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ทั้งสอง แต่ได้ทำสัญญากู้เงินเพื่ออำพรางการเข้าเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ทั้งสองในกองทุนของจำเลยอันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืนสำหรับฎีกาจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 และให้ยกฎีกาจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2