คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นอุทธรณ์ จำเลยไม่แก้อุทธรณ์ จะถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางอำนวยศรี เจริญปลั่ง ซื้อที่ดินแปลงพิพาทมาจากการขายทอดตลาดของศาลจังหวัดชลบุรี ต่อมาโจทก์ได้ซื้อที่แปลงนี้จากนางอำนวยศรี เจริญปลั่ง โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนการซื้อขายที่สำนักงานทะเบียนที่ดิน โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดิน จำเลยโต้แย้งว่าที่แปลงพิพาทเป็นของจำเลยและขัดขวางการรังวัด จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ และห้ามมิให้จำเลยขัดขวางการรังวัดของโจทก์

จำเลยให้การว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลย จำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยคำพิพากษาของศาลจังหวัดชลบุรี โจทก์ได้ซื้อที่พิพาทหรือไม่จำเลยไม่รับรอง

ศาลจังหวัดชลบุรีให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย และพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลจังหวัดชลบุรีดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

โจทก์ฎีกาว่า ในชั้นอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ จึงยกขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งได้สิทธินั้นมาทางจดทะเบียนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่ได้ จำเลยมิได้โต้แย้งแก้อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ จึงถือได้ว่าคดีไม่มีประเด็นที่จะสืบพยานต่อไป ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่ต้องสืบพยาน

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อมีการฟ้องคดีต่อศาลและมีคำให้การแล้วศาลย่อมตรวจคำคู่ความว่าคดีนั้นมีประเด็นข้อพิพาทที่รับกันหรือโต้เถียงกันอย่างไรบ้าง ข้อใดที่รับกันก็ไม่จำต้องสืบพยาน ส่วนข้อที่พิพาทโต้แย้งกัน ก็ต้องมีพยานหลักฐานประกอบเพื่อจะได้ชี้ขาดว่าความจริงเป็นฉันใด คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ซื้อที่พิพาทจากนางอำนวยศรีและจดทะเบียนโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน จำเลยให้การว่าไม่รับรองหรือหากมีการซื้อขายกันก็เป็นการสมยอมโดยไม่สุจริตจำเลยหาได้รับข้อเท็จจริงตามฟ้องของโจทก์ไม่ คดีจึงมีประเด็นโต้เถียงที่จะต้องพิจารณากันให้ปรากฏว่าความจริงสมกับฝ่ายใดสำหรับเป็นหลักวินิจฉัยพิพากษาคดีต่อไป ในชั้นอุทธรณ์ที่โจทก์ยกเหตุการณ์ตามฟ้องขึ้นกล่าว ก็เป็นการอ้างอิงเพื่อรูปคดีของตนเป็นประมาณที่ฝ่ายจำเลยไม่แก้อุทธรณ์จะถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์หาได้ไม่ในเรื่องแก้อุทธรณ์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 235 ไม่ได้บัญญัติบังคับให้ต้องแก้อุทธรณ์ ที่ต้องส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก็เพื่อให้รู้ว่าคดีนั้นยังไม่ถึงที่สุด มีอุทธรณ์อยู่ ส่วนจะแก้อุทธรณ์หรือไม่จึงไม่ถือเป็นสารสำคัญ ทั้งในการพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์ในคดีที่ไม่มีการแก้อุทธรณ์นั้นก็ใช่ว่าศาลอุทธรณ์จะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่บรรยายมาในฟ้องอุทธรณ์เสมอไป ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ควรถือหลักการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นมาใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินในชั้นอุทธรณ์โดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าในกรณีที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่แก้หรือไม่โต้แย้งอุทธรณ์ จะถือว่าเป็นการยอมรับรองข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์หาได้ไม่อยู่นั่นเองเพราะแม้ในการพิจารณาคดีที่จำเลยขาดนัดยื่นให้การในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205 ก็บัญญัติว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะร้องต่อศาลให้วินิจฉัยชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะโดยอาศัยเหตุแต่เพียงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งขาดนัดไม่มาศาลนั้นหาได้ไม่ ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้คู๋ความฝ่ายที่มาศาลเป็นฝ่ายชนะต่อเมื่อศาลเห็นว่าข้ออ้างของคู่ความเช่นว่านี้มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ศาลอาจสืบพยานที่เห็นจำเป็นอันเกี่ยวกับข้ออ้างดังกล่าวแล้ว ฉะนั้น ที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาคดีตนให้ชนะไปทีเดียวโดยถือว่าข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามอุทธรณ์ของตน เพราะอีกฝ่ายหนึ่งไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้โดยเหตุผลดังกล่าวมา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว

Share