คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3257/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แม้ฎีกาของจำเลยจะไม่ใช่ฎีกาในเนื้อหาแห่งคดี เป็นฎีกาคัดค้านเรื่องการใช้ดุลพินิจของศาลล่างทั้งสองที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาในวางเงินค่าธรรมเนียมตามมาตรา 229 ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงก็ต้องตกอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 248 เช่นเดียวกัน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 112,533.33 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 12,533.33 บาท นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายเวลาอุทธรณ์ 2 ครั้ง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายเวลาอุทธรณ์ไปถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542 ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 ไม่นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลภายในกำหนดระยะเวลาที่ขยาย จึงไม่รับอุทธรณ์ และในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายเวลาวางเงินค่าธรรมเนียม ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์อีก 3 ครั้ง ในครั้งที่ 3 ศาลชั้นต้นเห็นว่าศาลได้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ขยายเวลาชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 2 ครั้ง แล้วครั้งที่ 3 จำเลยที่ 2 คงอ้างเหตุเหมือน 2 ครั้งแรกว่า เพราะจำเลยที่ 2 ไปต่างจังหวัดยังไม่กลับมาจึงนำเงินค่าขึ้นศาลมาชำระไม่ทันอนุญาตเป็นครั้งสุดท้ายให้ขยายเวลาถึงวันที่ 13 เมษายน 2542 ต่อมาจำเลยที่ 2 กลับยื่นคำร้องขอขยายเวลาชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 4 อ้างเหตุเดิมอีก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ได้ให้เวลามากพอที่จำเลยที่ 2 จะหาเงินค่าธรรมเนียมศาลมาวางศาลได้จึงไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอีก ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แม้ฎีกาของจำเลยที่ 2 จะไม่ใช่ฎีกาในเนื้อหาแห่งคดี เป็นฎีกาคัดค้านเรื่องการใช้ดุลพินิจของศาลล่างทั้งสองที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาในการวางเงินค่าธรรมเนียมตามมาตรา 229 ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงก็ตามก็ต้องตกอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 248 ดังกล่าวเช่นเดียวกัน มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดผลที่ไม่ควรจะเป็น กล่าวคือ หากฎีกาในเนื้อหาของคดีกลับต้องห้าม แต่ฎีกาข้อปลีกย่อยกลับฎีกาได้ ซึ่งเป็นช่องทางก่อให้เกิดการประวิงคดี ด้วยเหตุผลดังกล่าวการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยขึ้นมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 2 คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่จำเลยที่ 2 โจทก์ไม่ได้แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความในชั้นฎีกาให้

Share