คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3245/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกมีเจตนาทุจริตที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่เบื้องต้น ส่วนการหลอกลวงว่าจะรับซื้อที่ดินจำนวนมากก็ดี หรือการหลอกลวงว่าจะพาไปซื้อรถยนต์ราคาถูกก็ดี ล้วนเป็นการสร้างกลอุบายเพื่อให้บรรลุผลเอาเงินสดของผู้เสียหายไปโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หาใช่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกอีก 3 คน ร่วมกันวางแผนหลอกลวงเอาเงินของนายทองจีน นันทรัตน์ ผู้เสียหาย โดยจำเลยทั้งสามอ้างว่าจำเลยทั้งสามกับพวกรู้จักคุ้นเคยกับผู้จัดการบริษัทโตโยต้าศรีสะเกษ จำกัด สามารถซื้อรถยนต์ที่มีสภาพใหม่ได้ในราคาถูกเป็นพิเศษ หากผู้เสียหายต้องการซื้อจำเลยทั้งสามกับพวกสามารถติดต่อให้ได้ซึ่งไม่เป็นความจริงจนผู้เสียหายหลงเชื่อยอมไปถอนเงินจำนวน 250,000 บาท จากธนาคารเพื่อนำไปซื้อรถยนต์ หลังจากได้รับเงินแล้วจำเลยทั้งสามกับพวกได้แอบลักเงินจำนวน 250,000 บาท ของผู้เสียหายหลบขึ้นรถยนต์ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนซึ่งได้ตระเตรียมไว้ขับหนีออกไปจากที่เกิดเหตุทันทีอันเป็นการร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดการพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335(7), 336 ทวิกับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 140,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 2 ปี ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินที่ลักไปและยังไม่ได้คืนจำนวน 140,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 2 มิได้ยื่นฎีกา ส่วนจำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงยุติในปัญหาข้อเท็จจริง คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อแรกว่า จำเลยที่ 1ร่วมกับพวกกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายทองจีน นันทรัตน์ ผู้เสียหายและนางกันหา นันทรัตน์ ภริยาผู้เสียหายเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า จำเลยที่ 1กับพวกได้พาผู้เสียหายไปพบจำเลยที่ 2 ซึ่งอ้างตนว่าเป็นเสี่ยใหญ่ต้องการซื้อที่ดินจำนวนมาก โดยจำเลยที่ 3 อ้างตนว่าเป็นที่ปรึกษาบริษัทได้เข้าร่วมในการเจรจาด้วยหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 กับพวกได้เกลี้ยกล่อมให้ผู้เสียหายซื้อรถยนต์ โดยให้ผู้เสียหายเบิกเงินจากธนาคารจำนวน 250,000 บาท เพื่อนำไปซื้อรถยนต์ เมื่อผู้เสียหายเบิกเงินมาแล้วได้มอบให้นางกัณหาเก็บไว้ในตะกร้าหมาก แต่พวกของจำเลยที่ 1 ได้คว้าเงินจำนวนดังกล่าวไปให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่าจะเอาเงินไปให้เถ้าแก่หรือเสี่ยใหญ่เพื่อซื้อรถ ในที่สุดจำเลยที่ 1 พาผู้เสียหายและนางกันหาไปส่งที่บ้าน บอกว่าวันรุ่งขึ้นเวลา 8 นาฬิกาจะมารับ ถึงกำหนดนัดจำเลยที่ 1 ไม่มาพบ ผู้เสียหายและนางกัณหาออกตามหาจำเลยที่ 1 กับพวกแต่ไม่พบ จึงทราบว่าถูกจำเลยที่ 1 กับพวกหลอกลวง และนำความไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจ พยานหลักฐานของโจทก์ได้ความด้วยว่าพวกของจำเลยที่ 1 ซึ่งถูกฟ้องในคดีก่อนได้ให้การรับสารภาพและคืนเงินจำนวน110,000 บาท ตามที่ผู้เสียหายเรียกร้องและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คำเบิกความของผู้เสียหายและนางกัณหาสอดคล้องต้องกันและเชื่อมโยงเป็นลำดับขั้นตอนสมเหตุสมผล ทั้งไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1กับพวกอันจะเป็นเหตุให้มาเบิกความปรักปรำให้ร้ายจำเลยที่ 1 กับพวกให้ต้องรับโทษพยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกกระทำผิดตามฟ้อง ข้อที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าผู้เสียหายเล่นการพนันกับจำเลยที่ 1 และเสียเงินให้จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างตนเป็นผู้เสียหายได้นั้นเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

ส่วนประเด็นที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือฉ้อโกงนั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกเป็นกรณีมีเจตนาทุจริตที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่เบื้องต้น ส่วนการหลอกลวงว่าจะรับซื้อที่ดินจำนวนมากก็ดี หรือการหลอกลวงว่าจะพาไปซื้อรถยนต์ราคาถูกก็ดี ล้วนเป็นการสร้างกลอุบายเพื่อให้บรรลุผล คือการเอาเงินสดของผู้เสียหายจำนวน 250,000 บาท ไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง หาใช่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงดังฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กล่าวอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3ในปัญหาข้อกฎหมายฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อสุดท้ายว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ตามพฤติการณ์การกระทำผิดของจำเลยที่ 1 มีลักษณะเป็นขบวนการโดยร่วมกับพวกหลายคนวางแผนลักทรัพย์โดยใช้กลอุบายหลอกลวงผู้เสียหายด้วยวิธีการต่าง ๆ นับว่าเป็นภัยต่อสังคม และจำเลยที่ 1 ก็ให้การปฏิเสธต่อสู้คดีตลอดมาหาได้รู้สำนึกในความผิดแต่อย่างใดไม่ แม้ภายหลังภรรยาและบิดาภรรยาของจำเลยที่ 1 จะได้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 50,000 บาท แก่ผู้เสียหายในระหว่างฎีกา แต่ก็เป็นค่าเสียหายเพียงบางส่วนเท่านั้น และมีลักษณะเป็นไปในทางเพื่อประโยชน์มิให้จำเลยที่ 1 ต้องได้รับโทษจำคุกยิ่งกว่าเป็นการที่จำเลยที่ 1 สำนึกในความผิด จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 แต่กรณีมีเหตุสมควรกำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เสียใหม่ให้เบาลง สำหรับจำเลยที่ 3 นั้น แม้ไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีมีปัญหาข้อกฎหมายขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาไปถึงจำเลยที่ 3 ได้ ซึ่งได้ความตามคำร้องของผู้เสียหายฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2544 ว่าในระหว่างฎีกาผู้เสียหายได้รับชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 50,000 บาท จากพี่สาวของจำเลยที่ 3 จึงสมควรกำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ 3 เสียใหม่ให้เบาลงเช่นกัน

อนึ่ง เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้เสียหายได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 3 แล้วรวมเป็นเงิน 100,000 บาท ผู้เสียหายจึงคงมีสิทธิที่จะได้รับเงินที่ถูกลักไปและยังไม่ได้คืนจำนวน 40,000 บาท”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 1 ปี ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินที่ลักไปและยังไม่ได้คืนจำนวน 40,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share