คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2974/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ผู้ที่จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลจะต้องถูกโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมาย หรือจะต้องใช้สิทธิทางศาล คือต้องมีกฎหมายรองรับว่ามีสิทธิหรือหน้าที่หรือจะต้องใช้สิทธิทางศาลแต่ตามคำฟ้องที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดมีชื่อจำเลย จำเลยจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์อ้างว่าตนมีเพียงสิทธิครอบครอง จึงไม่มีกฎหมายรองรับให้โจทก์อ้างสิทธิครอบครองเหนือกรรมสิทธิ์ได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าตามคำฟ้องจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใด ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1369 ที่โจทก์อ้างก็เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าผู้ยึดถือทรัพย์สินเพื่อตนเป็นผู้ได้สิทธิครอบครองเท่านั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดหน้าที่ของผู้มีกรรมสิทธิ์หรือใช้สิทธิแก่ผู้ครอบครอง จึงเป็นกรณีที่ไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่หรือมีเหตุที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล โจทก์ไม่มีสิทธิยื่นฟ้องจำเลยต่อศาล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 807 ตำบลทะนง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตรซึ่งเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 11566 ตำบลทะนง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร เนื้อที่ 1 งาน มีจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เมื่อประมาณ 25 ปี มาแล้ว โจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวบางส่วนจากมารดาโจทก์ ตกลงกันด้วยวาจา ต่อมาโจทก์ได้ปรับพื้นที่ที่ดินโดยทำเป็นที่อยู่อาศัยเนื้อที่กว้าง 7 เมตร ยาว 22 เมตร โจทก์เข้าครอบครองและปลูกบ้านอยู่อาศัยโดยความยินยอมของบิดามารดาโจทก์และจำเลยรวมทั้งพี่น้องทุกคน โจทก์ครอบครองมา 25 ปี โดยเจตนายึดถือเพื่อตนโดยสงบและเปิดเผย ไม่มีผู้ใดโต้แย้งหรือขัดขวาง จึงได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 โจทก์เคยบอกกล่าวให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิครอบครองดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้มีคำสั่งแสดงว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 11566 ตำบลทะนงอำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร เนื้อที่กว้าง 7 เมตร ยาว 22 เมตร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง และบังคับจำเลยไปจดทะเบียนสิทธิครอบครองแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า โจทก์และจำเลยเป็นบุตรีของนายช่อและนางถวิล ก่อนถึงแก่ความตาย นายช่อและนางถวิลยกที่ดินให้แก่บุตรทุกคน ที่ดินของจำเลยนั้นนอกจากจำเลยอยู่อาศัยแล้ว ยังให้โจทก์ปลูกเรือนอยู่อาศัยทางด้านหลังบ้านด้วยความรักและความเมตตาในฐานะน้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำฟ้องของโจทก์ถือว่ามีข้อโต้แย้งในเรื่องสิทธิหรือหน้าที่ในทางแพ่งหรือมีเหตุที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลหรือไม่ ปรากฏตามคำฟ้องบรรยายว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทเนื้อที่กว้าง 7 เมตร ยาว 22 เมตร จากมารดาโจทก์และจำเลย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 11566 ของจำเลย แล้วเข้าครอบครองที่ดินโดยปลูกบ้านอยู่อาศัยโดยสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาประมาณ 25 ปี โจทก์แจ้งเจ้าพนักงานที่ดินรวมทั้งจำเลยให้จดทะเบียนสิทธิครอบครองแก่โจทก์ แต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าต้องมีคำสั่งศาล ส่วนจำเลยเพิกเฉย ขอให้มีคำสั่งแสดงว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องและให้ไปจดทะเบียนสิทธิครอบครองแก่โจทก์ เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ผู้ที่จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลจะต้องถูกโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมาย หรือจะต้องใช้สิทธิทางศาล กล่าวคือ ต้องมีกฎหมายรองรับว่ามีสิทธิหรือหน้าที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลแต่ตามคำฟ้องที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดมีชื่อจำเลย จำเลยจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แต่โจทก์อ้างว่าตนมีเพียงสิทธิครอบครอง จึงไม่มีกฎหมายรองรับให้โจทก์อ้างสิทธิครอบครองเหนือกรรมสิทธิ์ได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าตามคำฟ้องจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใด ส่วนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1369 ที่โจทก์อ้างก็เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า ผู้ยึดถือทรัพย์สินเพื่อตนเป็นผู้ได้สิทธิครอบครองเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดหน้าที่ของผู้มีกรรมสิทธิ์หรือใช้สิทธิแก่ผู้ครอบครองจึงเป็นกรณีที่ไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ หรือมีเหตุที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล โจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นฟ้องจำเลยต่อศาล คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share