คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2098/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้พระราชบัญญัติสหกรณ์ฯ มาตรา 42 วรรคสอง จะกำหนดว่าในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุดลง ห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องในค่าหุ้นของสมาชิกผู้นั้นก็ตาม แต่เงินค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้ร้องได้ชำระให้แก่ผู้ร้องไปแล้วนั้น ถือว่าเป็นเงินทุนของผู้ร้องที่จำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ ซึ่งตามระเบียบของผู้ร้องก็ระบุว่า จำเลยที่ 1 จะโอนหรือถอนคืนค่าหุ้นบางส่วนหรือทั้งหมดในระหว่างที่ตนเป็นสมาชิกไม่ได้ สิทธิของจำเลยที่ 1 ในการถอนคืนเงินค่าหุ้นดังกล่าวจึงมีเงื่อนไข ซึ่งการชำระเงินค่าหุ้นคืนของผู้ร้องก็มีเงื่อนไขในทำนองเดียวกัน อย่างไรก็ตามเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจออกคำสั่งอายัดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 310 ทวิ ประกอบด้วยมาตรา 311 วรรคสอง ทั้งนี้ ไม่ว่าหนี้ของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั้นจะมีข้อโต้แย้ง ข้อจำกัดหรือเงื่อนไขใดและได้กำหนดจำนวนไว้แน่นอนหรือไม่ก็ตาม ในเมื่อสิทธิเรียกร้องนั้นไม่อยู่ในข้อยกเว้นในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 แต่จะกำหนดในคำสั่งอายัดให้เป็นการฝ่าฝืนข้อจำกัดหรือเงื่อนไขแห่งหนี้นั้นหาได้ไม่ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดให้ผู้ร้องส่งเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อจำเลยที่ 1พ้นจากการเป็นสมาชิกของผู้ร้องแล้ว จึงหามีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องไม่ ทั้งคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดียังสอดคล้องกับเงื่อนไขแห่งหนี้ที่ผู้ร้องต้องชำระแก่จำเลยที่ 1กรณีจึงไม่เป็นคำสั่งอายัดที่ขัดต่อพระราชบัญญัติสหกรณ์ฯ มาตรา 42 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เงินกู้จำนวน34,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 30,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 30,000 บาท นับแต่วันที่10 ตุลาคม 2540 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และยกฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงผู้ร้องแจ้งอายัดเงินค่าหุ้นเมื่อจำเลยที่ 1 พ้นจากสมาชิกภาพกับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนของจำเลยที่ 1 เป็นประจำทุกปี อันมีต่อผู้ร้องจำนวน 40,097.60 บาท โดยให้ส่งเงินดังกล่าวไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดี

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เงินปันผลและเงินดอกเบี้ยเฉลี่ยคืนของจำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าใดเพราะผู้ร้องยังมิได้จัดให้มีการประชุมจัดสรรกำไร เมื่อมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีและมีการรับรองงบดุลจัดสรรกำไรแล้ว ผู้ร้องจะนำส่งเงินดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ส่วนเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 นั้นตามพระราชบัญญัติสหกรณ์พ.ศ. 2542 มาตรา 42 วรรคสองบัญญัติว่า ในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุดลง ห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องในค่าหุ้นของสมาชิกผู้นั้น ปัจจุบันจำเลยที่ 1 ยังคงเป็นสมาชิกของผู้ร้องอยู่ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิอายัดเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1เพราะกฎหมายห้ามการอายัดเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือแจ้งอายัดดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องที่มิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งอายัดเงินค่าหุ้นของเจ้าพนักงานบังคับคดีเสีย

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินจากโจทก์ก่อนวันพระราชบัญญัติสหกรณ์พ.ศ. 2542 จะใช้บังคับ จึงมิอาจใช้บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวย้อนหลังได้ที่กฎหมายบัญญัติว่าห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องในค่าหุ้นของสมาชิกของผู้ร้องนั้นมิได้บัญญัติโดยชัดแจ้งว่า เจ้าหนี้ดังกล่าวจะต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้ธรรมดา ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ผู้ร้องส่งเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อจำเลยที่ 1 พ้นจากการเป็นสมาชิกของผู้ร้องแล้ว โดยผู้ร้องฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542มาตรา 42 วรรคสองบัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องในค่าหุ้นของสมาชิกในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุดลงนั้น เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติสหกรณ์พ.ศ. 2542 มาตรา 42 วรรคสอง จะบัญญัติว่า ในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุดลง ห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องในค่าหุ้นของสมาชิกผู้นั้นก็ตาม โดยเงินค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นสมาชิกของผู้ร้องได้ชำระให้แก่ผู้ร้องไปแล้วนั้น ถือว่าเป็นเงินทุนของผู้ร้อง แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังมีสิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ ซึ่งตามระเบียบของผู้ร้องเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 8 กำหนดว่าจำเลยที่ 1 จะโอนหรือถอนคืนค่าหุ้นแม้แต่บางส่วนหรือทั้งหมดในระหว่างที่ตนเป็นสมาชิกไม่ได้ โดยข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการป้องกันมิให้มีผลกระทบต่อเงินทุนในการดำเนินกิจการของผู้ร้อง สิทธิของจำเลยที่ 1 ที่จะถอนคืนเงินค่าหุ้นที่ชำระแล้วดังกล่าวจึงมีเงื่อนไข ซึ่งการชำระเงินค่าหุ้นคืนของผู้ร้องก็มีเงื่อนไขในทำนองเดียวกันแต่เพื่อเป็นการป้องกันสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไว้มิให้เสียหาย เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีอำนาจออกคำสั่งอายัดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 310 ทวิ ประกอบด้วย มาตรา 311 วรรคสอง ไม่ว่าหนี้ของบุคคลภายนอกนั้นจะมีข้อโต้แย้งหรือมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขหรือว่าได้กำหนดจำนวนไว้แน่นอนหรือไม่ในเมื่อสิทธิเรียกร้องนั้นไม่อยู่ในข้อยกเว้นในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 แต่จะกำหนดในคำสั่งอายัดให้เป็นการฝ่าฝืนข้อจำกัดหรือเงื่อนไขแห่งหนี้นั้นหาได้ไม่ เพราะอาจมีผลกระทบต่อสิทธิของลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องเป็นบุคคลภายนอกได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดให้ผู้ร้องส่งเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อจำเลยที่ 1 พ้นจากการเป็นสมาชิกของผู้ร้องแล้ว หาทำให้มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่เนื่องจากเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 ยังคงอยู่เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการของผู้ร้องต่อไปอีกจนกว่าจำเลยที่ 1 จะมิได้เป็นสมาชิกของผู้ร้องอีกต่อไป ทั้งคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวยังสอดคล้องกับเงื่อนไขแห่งหนี้ที่ผู้ร้องต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 และหาเป็นคำสั่งอายัดที่ขัดต่อพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 42วรรคสอง ตามที่ผู้ร้องฎีกาไม่ จึงไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าว คำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share