คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1921/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การตกลงกำหนดค่าจ้างโจทก์และลูกจ้างอื่นเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหากจำเลยผู้เป็นนายจ้างประสงค์จะลดค่าจ้างอันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจำเลยต้องแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างและดำเนินการตามขั้นตอนจนมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ หรือจำเลยจะตกลงกับลูกจ้างแต่ละคนไว้เป็นหนังสือหรือโดยปริยายให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ได้ การที่จำเลยประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ จึงขอลดค่าจ้างของโจทก์และลูกจ้างอื่น โดยจำเลยเรียกประชุมผู้จัดการทุกฝ่ายรวมทั้งโจทก์เพื่อแจ้งเรื่องการลดเงินเดือน แล้วให้ผู้จัดการแต่ละฝ่ายแจ้งพนักงานในฝ่ายของตนทราบต่อไป ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการลดเงินเดือนพนักงานโดยโจทก์และลูกจ้างอื่นไม่คัดค้านและยอมรับเงินเดือนในอัตราใหม่ตลอดมา จึงถือได้ว่าโจทก์และลูกจ้างอื่นต่างตกลงโดยปริยายให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องอัตราค่าจ้างได้ จำเลยจึงมีสิทธิลดค่าจ้างโจทก์ได้ โดยชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เคยเป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่ปี 2536 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย ได้รับเงินเดือนเดือนละ 38,000 บาท โจทก์ลาออก เมื่อวันที่ 17พฤษภาคม 2542 จำเลยจ่ายเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์เท่านั้น แต่ไม่จ่ายเงินสมทบจำนวน 66,413 บาทให้โจทก์ด้วย และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2540 ถึงเดือนเมษายน2542 จำเลยจงใจจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ไม่ครบ นอกจากนี้จำเลยยังจงใจจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายรถยนต์ให้โจทก์ไม่ครบถ้วนรวมเป็นต้นเงิน เงินเพิ่ม และดอกเบี้ยทั้งสิ้น 4,386,803 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 4,386,803 บาทพร้อมเงินเพิ่มและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 628,363 บาท ทุกเจ็ดวันและนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามลำดับ

จำเลยให้การว่า โจทก์ทำงานเป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่เดือนมกราคม 2537อัตราเงินเดือน 35,000 บาท โดยไม่มีสิทธิประโยชน์อย่างอื่นอีก ตั้งแต่ปลายปี 2539เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ธุรกิจของจำเลยดำเนินต่อไปได้ โดยไม่ต้องลดจำนวนพนักงานหรือเลิกจ้างพนักงาน จึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือพนักงานระดับผู้บริหารกับหัวหน้าหน่วยงานทั้งหมดต่างเห็นชอบร่วมกันให้ลดเงินเดือนพนักงานทุกคนตามอัตราที่กำหนด หากพนักงานคนใดไม่เห็นชอบด้วยให้ลาออกโดยจำเลยจะจ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมาย โจทก์ได้เข้าร่วมประชุมด้วยและมิได้โต้แย้งคัดค้าน จึงได้มีการกำหนดอัตราเงินเดือนตามตำแหน่งที่จะลดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2540 เป็นต้นไป จำเลยได้จ่ายเงินค่าผลประโยชน์จากการขายรถยนต์ให้โจทก์ถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างจำนวน 491,473 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 422,250 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายรถยนต์ที่ขาดจำนวน 140,492 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 139,700บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยลดค่าจ้างของโจทก์ชอบหรือไม่ และค้างจ่ายค่าจ้างตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การตกลงกำหนดค่าจ้างของโจทก์และลูกจ้างอื่นเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หากจำเลยผู้เป็นนายจ้างประสงค์จะลดค่าจ้างของลูกจ้าง อันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยจะต้องแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างและดำเนินการตามขั้นตอนจนมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หรือจำเลยจะตกลงกับลูกจ้างแต่ละคนไว้เป็นหนังสือหรือโดยปริยายให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ได้ ข้อเท็จจริงเฉพาะคดีนี้ปรากฏตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า จำเลยประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจจึงลดค่าจ้างของโจทก์และลูกจ้างอื่นรวม 2 ครั้งในช่วง นับแต่เดือนสิงหาคม 2540 ถึงเดือนมกราคม 2541 จ่ายค่าจ้างให้โจทก์เดือนละ 19,000 บาท และในช่วงนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2541 ถึงเดือนเมษายน 2542 จ่ายค่าจ้างให้โจทก์เดือนละ 18,050 บาท ในการลดค่าจ้างดังกล่าว จำเลยได้เรียกประชุมผู้จัดการฝ่ายทุกคนรวมทั้งโจทก์เพื่อแจ้งเรื่องการลดเงินเดือนพนักงาน แล้วให้ผู้จัดการฝ่ายแต่ละฝ่ายไปแจ้งให้พนักงานในฝ่ายของตนทราบต่อไป หลังจากนั้นได้มีการลดเงินเดือนพนักงานทุกคนโดยโจทก์และพนักงานอื่นไม่ได้โต้แย้งคัดค้านและยอมรับเงินเดือนในอัตราใหม่ตลอดมา พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า โจทก์และลูกจ้างอื่นต่างตกลงโดยปริยายให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องอัตราค่าจ้างได้ จำเลยจึงมีสิทธิลดค่าจ้างของโจทก์ได้โดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างตามฟ้องแก่โจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อไปว่า เอกสารหมาย ล.3 ซึ่งเป็นเอกสารแผ่นที่สองของเอกสารหมาย จ.10 มีข้อความว่าผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรองประธานบริษัทจำเลย ถือได้ว่าโจทก์ได้ยินยอมไว้ล่วงหน้าให้มีการเปลี่ยนแปลงการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายเป็นว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายให้โจทก์แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายรถยนต์และดอกเบี้ยตามฟ้องนั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้จัดการฝ่ายขายรถเล็ก เมื่อเดือนมิถุนายน 2541 จำเลยได้ให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายรถยนต์แก่ผู้จัดการฝ่ายขาย กล่าวคือ ถ้าขายได้คันที่ 1 ถึงคันที่ 5 จะได้รับคันละ 1,000 บาท คันที่ 6 ถึงคันที่ 10 จะได้รับคันละ 1,500 บาท และตั้งแต่คันที่ 11เป็นต้นไป จะได้รับคันละ 2,000 บาท จำเลยได้จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวให้โจทก์ในเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม 2541 แล้ว แต่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2541 ถึงเดือนพฤษภาคม 2542 จำเลยจ่ายให้โจทก์ไม่ครบ โดยจำเลยไม่อาจจะอ้างว่าผลประโยชน์ตอบแทนการขายรถยนต์ดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรองประธานและจำเลยได้เปลี่ยนแปลงผลประโยชน์ตอบแทนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2541 ได้ เพราะผลประโยชน์ตอบแทนการขายรถยนต์ดังกล่าวเป็นสภาพการจ้างอย่างหนึ่ง เมื่อจำเลยนายจ้างกำหนดให้จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนการขายแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยโจทก์ไม่ยินยอมไม่ได้ เห็นว่าเอกสารหมาย ล.3 เป็นเอกสารเกี่ยวกับเงินเดือนและผลประโยชน์ของพนักงานรถใหญ่ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายรถเล็ก และอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งอ้างข้อความในเอกสารหมาย ล.3 ดังกล่าวข้างต้นก็เพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ตกลงยินยอมในการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้เป็นการล่วงหน้ากรณีไม่จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายรถยนต์แก่พนักงานขายแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์นี้อีก จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างจำนวน 491,473 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share