คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1630/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยให้การเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพื่อปรักปรำโจทก์ให้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนร้ายที่ลักเงินของธนาคารไปเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้ธนาคารหลงเชื่อว่าโจทก์มีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจและเลิกจ้างโจทก์ โดยเรียกร้องค่าเสียหายเนื่องจากการที่ต้องถูกเลิกจ้าง แต่ทางพิจารณาได้ความว่าธนาคารเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากธนาคารรับฟังข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนและคณะกรรมการพิจารณาวินัยและอุทธรณ์ของธนาคารที่ธนาคารตั้งขึ้นทำการสอบสวนหลังเกิดเหตุเอง ความเสียหายที่โจทก์ได้รับมิได้เกิดจากการที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวน ดังนี้ แม้จำเลยจะให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนของธนาคารทำนองเดียวกับที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์โดยให้การเท็จต่อคณะกรรมการสอบสวนของธนาคารอันเป็นการให้การคนละกรณีกัน จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเพราะเป็นเรื่องนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา แต่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ต้องถูกธนาคารเลิกจ้างมาเพียงอย่างเดียว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าคำให้การของจำเลยเป็นความเท็จหรือไม่ และไม่อาจถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสี่เคยทำงานด้วยกันที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ฝ่ายบริการโอนและแลกเงินตราต่างประเทศ เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2537 ฝ่ายบริการโอนและแลกเงินตราต่างประเทศพบว่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐหายไปจากคลังส่วนกลาง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆเพื่อทำการสอบสวน ต่อมาระหว่างวันที่ 22 เมษายน 2537 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันให้การเท็จต่อร้อยตำรวจเอกชัชพร องค์ศิริพร พนักงานสอบสวนเพื่อปรักปรำโจทก์ให้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนร้ายที่ลักเงินจำนวนดังกล่าวไป อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้ธนาคารหลงเชื่อว่าโจทก์มีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจและมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 29 มิถุนายน 2537 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องถูกเลิกจ้างก่อนถึงกำหนด ซึ่งโจทก์มีสิทธิทำงานได้จนถึงอายุ 60 ปี การถูกเลิกจ้างทำให้โจทก์ขาดรายได้เป็นเวลา 8 ปี 6 เดือน โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน2,000,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 2,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ข้อความที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ให้การเท็จต่อพนักงานสอบสวนนั้น เป็นข้อความที่เป็นความจริงทั้งสิ้นฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะอ้างว่าจำเลยทั้งสี่ให้การเท็จแต่ไม่บรรยายฟ้องว่าความจริงเป็นอย่างไร โจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสี่ให้การไว้ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2539 ในคดีที่โจทก์ฟ้องธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง และในคดีดังกล่าวธนาคารได้อ้างสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนซึ่งโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนดังกล่าว และให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีไปโดยไม่ต้องสืบพยาน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเกินกว่า 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ไม่จำต้องพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีโจทก์มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง จึงไม่ขาดอายุความ แต่การกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสี่พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์และจำเลยทั้งสี่ทำงานอยู่ที่ฝ่ายบริการโอนและแลกเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2537 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา มีการตรวจสอบพบว่าเงินหายไป 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาธนาคารได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.2 ว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2537 เวลาประมาณ 06.20 นาฬิกา ได้ยินผู้หญิงพูดว่าขอเบิกเงิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ เย็นวันนั้นเวลา 16 ถึง 17 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ได้ยินเสียงโจทก์พึมพำว่า ฝ่ายเดินทางไม่มารับเงินไปเสียที ประมาณ 2 ถึง 3 ครั้ง และให้การต่อไปว่า จำเลยที่ 1 นำเงินมาวางที่โต๊ะกลางหน้าโต๊ะของโจทก์พร้อมทั้งบอกให้โจทก์ทราบ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน ตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.7 ทำนองเดียวกันว่า ในวันที่ 11 เมษายน เวลา 16 นาฬิกา ได้ยินเสียงโจทก์ตะโกนขอเบิกเงิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นธนาคารมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ฟ้องธนาคารต่อศาลแรงงานกลางแต่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด สำหรับคดีอาญาโจทก์ตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง สำหรับปัญหาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยทั้งสี่ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.5 ถึง จ.7 เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่….

พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ให้การเท็จต่อพนักงานสอบสวน เพื่อปรักปรำโจทก์ให้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนร้ายที่ลักเงิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ไป เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้ธนาคารหลงเชื่อว่าโจทก์มีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจและเลิกจ้างโจทก์ โดยเรียกร้องค่าเสียหายเนื่องจากการที่ต้องถูกเลิกจ้าง แต่ทางพิจารณาได้ความตามคำเบิกความของนายไชยพร ตันเจริญทรัพย์ พยานจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการตรวจสอบของธนาคารประกอบกับสำเนาหนังสือของธนาคารมีถึงโจทก์ฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2537 แจ้งการเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 ในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 861/2539 ของศาลแรงงานกลางว่าหลังเกิดเหตุธนาคารได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนคณะกรรมการมีความเห็นว่าโจทก์มีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจ และคณะกรรมการพิจารณาวินัยและอุทธรณ์ของธนาคาร ได้พิจารณาอีกชั้นหนึ่งแล้วมีมติเช่นเดียวกับคณะกรรมการสอบสวนโดยเสนอความเห็นให้เลิกจ้างโจทก์ รองประธานกรรมการบริหารของธนาคารจึงอนุมัติให้เลิกจ้างโจทก์ แสดงว่าการที่ธนาคารเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากธนาคารรับฟังข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนและคณะกรรมการพิจารณาวินัยและอุทธรณ์ของธนาคารเองหาได้เกี่ยวข้องกับคำให้การของจำเลยทั้งสี่ที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนในสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่โจทก์เป็นผู้ต้องหาไม่ ความเสียหายที่โจทก์ได้รับเพราะเหตุที่ถูกธนาคารเลิกจ้างมิได้เกิดจากการที่จำเลยทั้งสี่ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.2 และจ.5 ถึง จ.7 ดังจะเห็นได้จากการที่ธนาคารแจ้งการเลิกจ้างให้โจทก์ทราบตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2537 ก่อนที่พนักงานอัยการจะแจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ในคดีอาญาให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2538ตามเอกสารหมาย จ.8 เป็นเวลาถึง 8 เดือนเศษ ดังนี้ แม้จำเลยทั้งสี่จะให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนของธนาคารทำนองเดียวกับที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.5 ถึง จ.7 ก็ตามแต่โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องเลยว่าจำเลยทั้งสี่ทำละเมิดต่อโจทก์โดยให้การเท็จต่อคณะกรรมการสอบสวนของธนาคารอันเป็นการให้การคนละกรณีกัน จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาถึงเพราะเป็นเรื่องนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาแต่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ต้องถูกธนาคารเลิกจ้างมาเพียงอย่างเดียวเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ว่าค่าเสียหายตามคำฟ้องมิได้เป็นผลของการที่จำเลยทั้งสี่ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.2 และจ.5 ถึง จ.7 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า คำให้การของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวเป็นความเท็จหรือไม่ตามที่โจทก์ฎีกา และไม่อาจถือว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามคำฟ้องเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาคงเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share