คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2123/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สองฝ่ายตกลงกันเองว่าฝ่ายใดจะเช่าที่ดินแปลงไหนจากการรถไฟเจ้าหน้าที่การรถไฟได้อนุมัติและบันทึกการตกลงนั้นไว้แล้วและต่อมาก็มิได้มีการเพิกถอนข้อตกลงนั้น ดังนี้ฝ่ายหนึ่งจะฟ้องขับไล่อีกฝ่ายหนึ่งที่ได้เข้าไปทำประโยชน์ในที่แปลงที่เขามีสิทธิตามข้อตกลงนั้นไม่ได้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินของการรถไฟ จำเลยได้เข้าตัดต้นไม้และปลูกโรงเรือนในที่เช่า ขอให้ขับไล่

จำเลยให้การว่า การรถไฟให้โจทก์จำเลยประมูลเช่าที่ดินรายพิพาทแต่โจทก์จำเลยตกลงแบ่งกันเช่าโดยไม่ต้องประมูล การรถไฟได้บันทึกการยินยอมไว้ว่าให้จำเลยได้เช่าแปลงหมาย ก.ที่พิพาทกันนี้และให้โจทก์ได้เช่าแปลงหมาย ข.

ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราเห็นว่า แม้โจทก์จำเลยจะได้ตกลงแลกที่พิพาทกันจนผู้ว่าการรถไฟอนุมัติแล้วก็ตาม แต่ทางการรถไฟยังมิได้ทำสัญญาเช่าที่พิพาทให้จำเลย คงทำสัญญาให้โจทก์เช่าตามเดิม จำเลยจะอ้างสิทธิการตกลงแลกเปลี่ยนมายันโจทก์มิได้ จึงพิพากษาให้ขับไล่จำเลย แต่ให้ยกคำขอที่เรียกค่าเสียหายอื่น

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีนี้พิพาทกันด้วยเรื่องความตกลงระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยได้บอกเลิกข้อตกลงอันนั้น จึงเป็นสัญญาที่ผูกพันโจทก์จำเลยให้จำต้องปฏิบัติตามเมื่อจำเลยเข้าทำในที่พิพาทก็ไม่เป็นการละเมิด จึงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์จำเลยผ่อนผันให้แก่กันจนโจทก์จำเลยอยู่ในฐานะที่จะได้เช่าที่ดินจากการรถไฟทั้งคู่เสมอกันเจ้าหน้าที่การรถไฟก็ได้รับรู้และอนุมัติให้เป็นไปตามข้อตกลงนี้จนกระทั่งมีการฟ้องร้องกันก็หาได้เป็นการเพิกถอนข้อตกลงนี้ไม่จำเลยถมบ่อและปลูกโรงในที่พิพาทตั้งแต่เดือนตุลาคม 2496 ซึ่งโจทก์รู้ดี และรู้ด้วยว่าสิทธิแห่งการเช่าที่พิพาทนั้นควรจะเป็นของจำเลย พอ 1 มกราคม 2497 โจทก์กลับไปทำสัญญาเช่าที่พิพาทกับการรถไฟ เป็นการฝืนข้อตกลงที่ทำกันไว้โดยชอบ แล้วโจทก์จึงฟ้องดังนี้เห็นว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยกระทำแล้วจึงหวนไปใช้สิทธิอันไม่สุจริตภายหลัง พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share