คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1984/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวนั้นเมื่อจำเลยรับมาเพราะกลัวความผิดตามประกาศของอำเภอจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้รับมาด้วยความสมัครใจ จำเลยจึงไม่มีเจตนาจะสละสัญชาติไทย
เมื่อจำเลยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับสามีคนต่างด้าว ตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่จำต้องไปจดทะเบียนรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามประกาศของอำเภอ จำเลยยังคงเป็นคนมีสัญชาติไทยตาม พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2456 ดังนี้ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวที่จำเลยได้รับตามพฤติการณ์ดังกล่าวจะใช้บังคับแก่จำเลยให้ขาดจากสัญชาติไทยไม่ได้ เมื่อจำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแล้วจำเลยก็ไม่มีหน้าที่จะต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวที่จำเลยได้รับมานั้น
อนึ่งการที่จะขาดจากสัญชาติไทยตาม พระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2496 มาตรา 5 จะต้องเป็นไปด้วยใจสมัครจึงจะถูกต้องตามความประสงค์ของมาตรานี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นคนต่างด้าวได้รับใบสำคัญประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว จำเลยต่อใบสำคัญประจำตัวครั้งหลังเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2494 หมดอายุวันที่ 7 กรกฎาคม 2495 จำเลยบังอาจไม่ต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวที่หมดอายุดังกล่าว ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493มาตรา 4, 10, 13, 20 พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2495 มาตรา 4

จำเลยต่อสู้ว่าเป็นคนไทย ได้สามีเป็นคนจีนแต่มิได้สมรส จำเลยใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวโดยเจ้าพนักงานบอกว่ามีสามีเป็นจีนต้องรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมิฉะนั้นมีความผิด จำเลยหลงเชื่อแม้จำเลยจะมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวก็ไม่ทำให้จำเลยกลับกลายเป็นคนต่างด้าวไป

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 มาตรา 4, 10, 13, 20 พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2495 มาตรา 4 ให้ปรับจำเลยปีหนึ่งเป็นเงิน 200 บาท ปรานีลดให้ 1 ใน 3 ตามมาตรา 59 คงปรับ 133 บาท 33 สตางค์

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ก.จำเลยเจตนาสละสัญชาติจึงได้ไปขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเพื่อถือตามสัญชาติของสามีโดยมิใช่เป็นการหลงผิดดังที่จำเลยแก้ตัว

จำเลยเกิดในราชอาณาจักร บิดาเป็นคนต่างด้าว จำเลยรับใบสำคัญประจำตัวตามกฎหมาย จำเลยย่อมขาดจากสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 มาตรา 5

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวอยู่ก่อนแล้วใบสำคัญจึงใช้ได้ตามกฎหมายจนกว่าจะหมดอายุ เมื่อใช้พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 แล้ว จำเลยก็ย่อมต่ออายุใบสำคัญประจำตัวอีก ครั้งสุดท้ายหมดอายุวันที่ 7 กรกฎาคม 2495 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องต่ออายุใบสำคัญประจำตัว มิฉะนั้น ต้องมีความผิดฐานไม่ต่อใบสำคัญประจำตัว

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จะขาดจากสัญชาติไทยตาม พระราชบัญญัติสัญชาติไทย (ฉบับที่ 2) มาตรา 5 พ.ศ. 2496 จะต้องเป็นไปด้วยใจสมัคร จึงจะถูกต้องตามความประสงค์ของมาตรานี้

คดีนี้จำเลยรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมาเพราะกลัวความผิดตามประกาศของอำเภอจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้รับมาด้วยใจสมัคร จำเลยไม่มีเจตนาสละสัญชาติไทย อีกประการหนึ่งจำเลยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับสามีคนต่างด้าวของจำเลย เมื่อไม่ได้จดทะเบียนแล้วในกฎหมายฐานะของสามีต่างด้าวของจำเลยก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับจำเลย ๆ ไม่จำต้องไปจดทะเบียนรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามประกาศของอำเภอ จำเลยยังเป็นคนมีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวที่จำเลยได้รับตามพฤติการณ์ดังกล่าวจะใช้บังคับแก่จำเลยให้ขาดจากสัญชาติไทยมิได้เมื่อจำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแล้วจำเลยก็ไม่มีหน้าที่จะต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวที่จำเลยได้รับมาไว้นั้น

พิพากษายืน

Share