คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5596/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 15 เป็นลูกจ้างโจทก์ ทำหน้าที่ขับรถเครนยกของหนักต้องใช้ความระมัดระวัง เมื่อจำเลยที่ 15 ดื่มสุราในเวลาทำงานแม้เป็นการดื่มนอกที่ทำงาน แต่ได้กลับเข้าทำงานในลักษณะมึนเมาสุราถ้าจำเลยที่ 15 เข้าปฏิบัติหน้าที่ขับรถเครนก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้การกระทำของจำเลยที่ 15จึงเป็นความผิดกรณีร้ายแรงโดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดความเสียหายขึ้นก่อน ดังนี้ โจทก์มีสิทธิเลิกจ้างจำเลยที่ 15 ได้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(3).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์คำสั่งที่ 49/2533 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2533 คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คำสั่งที่ 49/2533 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2533ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 49/2533 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2533
จำเลยที่ 15 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า จำเลยที่ 15 เป็นลูกจ้างของโจทก์ ทำหน้าที่ขับรถเครนยก แผนกคลังสินค้า ได้รับค่าจ้างวันละ 109 บาท เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2533 เวลาประมาณ 9 นาฬิกาซึ่งเป็นเวลาทำงาน จำเลยที่ 15 กับนายสุทธิพงศ์ นาวายุทธลูกจ้างด้วยกันได้ออกจากที่ทำงานไปสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรปราการโดยมีใบอนุญาตผ่านออกนอกบริเวณบริษัทแสดงต่อยาม แต่ไม่มีลายมือชื่อผู้อนุมัติ จำเลยที่ 15 กับนายสุทธิพงศ์ไปร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรปราการว่า โจทก์ไม่จ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยให้แก่จำเลยที่ 15 กับพวก เวลา 11 นาฬิกาเศษ จำเลยที่ 15 กับนายสุทธิพงศ์กลับเข้าทำงานตามปกติ ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2533 จำเลยที่ 15 กับนายสุทธิพงศ์ได้ออกจากที่ทำงานไปที่สำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรปราการอีก เวลาตอนบ่ายในวันเดียวกันจำเลยที่ 15 กับนายสุทธิพงศ์กลับเข้าทำงาน โจทก์จึงมีคำสั่งเลิกจ้างจำเลยที่ 15 และลงโทษตักเตือนเป็นหนังสือต่อนายสุทธิพงศ์ ศาลแรงงานกลางยังรับฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่าเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2533 ก่อนจำเลยที่ 15 กลับเข้าทำงานจำเลยที่ 15 กับนายสุทธิพงศ์ได้ดื่มสุราและจำเลยที่ 15 ได้กลับเข้าทำงานโดยมีอาการมึนเมาสุราเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 9.3.5 อันเป็นกรณีร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิเลิกจ้างจำเลยที่ 15 ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(3) คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยก่อนว่าการที่จำเลยที่ 15 ออกไปนอกที่ทำงานแล้วได้ดื่มสุรานอกที่ทำงานแล้วกลับเข้าทำงานเมื่อเวลา 11 นาฬิกาเศษ โดยมีอาการมึนเมาสุรา ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์ เอกสารหมาย จ.2 ข้อ 9.3.5 อันเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 15 มีหน้าที่ขับรถเครนยกของหนัก ต้องใช้ความระมัดระวัง ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อจำเลยดื่มสุราในเวลาทำงาน แม้ได้ดื่มนอกที่ทำงานแต่ได้กลับเข้าทำงานในลักษณะมึนเมาสุราเช่นนี้ ถ้าจำเลยที่ 15เข้าปฏิบัติหน้าที่ขับรถเครน ก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ การกระทำของจำเลยที่ 15 จึงเป็นความผิดกรณีร้ายแรงโดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดความเสียหายขึ้นก่อนโจทก์จึงมีสิทธิเลิกจ้างจำเลยที่ 15 ได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(3) แม้โจทก์ไม่ได้ลงโทษเลิกจ้างนายสุทธิพงศ์ด้วย ก็เป็นดุลพินิจในการลงโทษของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างซึ่งหน้าที่ในความรับผิดของลูกจ้างแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน การไม่ลงโทษเลิกจ้างนายสุทธิพงศ์จึงไม่อาจถือเป็นเหตุที่จะถือว่าการเลิกจ้างจำเลยที่ 15 เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 121 ตามที่จำเลยที่ 15 อุทธรณ์แต่อย่างใดการกระทำผิดของจำเลยที่ 15 เป็นความผิดกรณีร้ายแรงเข้าเกณฑ์ที่โจทก์จะลงโทษเลิกจ้างได้ การเลิกจ้างของโจทก์จึงไม่ใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์(จำเลยที่ 1 ถึงที่ 14) ศาลแรงงานกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 15 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share