แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟ้องคดีโดยได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องนั้น ไม่ต้องคัดสำเนาใบมอบอำนาจให้จำเลยพร้อมกับฟ้อง
เมื่อโจทก์กล่าวในฟ้องแล้วว่า ต้นฉบับใบมอบอำนาจอยู่ในสำนวนอีกคดีหนึ่งในศาลนั้นเองแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิที่จะไม่ต้องยื่นหรือส่งสำเนาเอกสารนั้นต่อศาลเดียวกันในคดีนี้อีก
ใบมอบอำนาจให้ฟ้องความนั้น เมื่อศาลไม่สงสัยว่าไม่ใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริงแล้ว ก็ไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47
ผู้จัดการมรดกนั้นจะมีได้ก็แต่โดยพินัยกรรมหรือศาลแต่งตั้งเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมนางสาวทองใบ สิทธิเกษร พี่นางสาวสมสมัย สิทธิเกษรได้รับซื้อฝากที่ดินแปลงหนึ่ง เนื้อที่ประมาณ 138 ไร่จากนางมี พรหมสุวรรณเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2484 มีกำหนดไถ่ 5 ปี นางมีไม่ไถ่ตามกำหนด ที่จึงหลุดเป็นสิทธิแก่นางสาวทองใบสิทธิเกษรตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2489 ดังแจ้งอยู่ในหนังสือสัญญาขายฝากทำต่อกรมการอำเภอตะพานหิน ซึ่งได้แนบสำเนามาพร้อมฟ้องในระหว่างขายฝาก และเมื่อที่หลุดเป็นสิทธิแก่นางสาวทองใบแล้วนางมีคงเช่าที่แปลงนี้ทำจากนางสาวทองใบตลอดมา เมื่อที่หลุดเป็นกรรมสิทธิ์แก่นางสาวทองใบแล้ว นางสาวทองใบได้ยื่นคำขอตราจองและนำเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิจิตรรังวัด แต่เจ้าพนักงานยังไม่ทันออกตราจอง นางสาวทองใบก็วายชนม์ลง นางสาวสมสมัย สิทธิเกษร ผู้น้องได้รับมรดก แต่นางสาวสมสมัยอยู่ในระหว่างศึกษาวิชาการอยู่ ณเมืองต่างประเทศ จึงยังไม่มีโอกาสมาติดต่อขอรับตราจองรายนี้ต่อมาปรากฏว่าหลังจากนางสาวทองใบวายชนม์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ไปแจ้งเท็จกับเจ้าพนักงานหอทะเบียนที่ดินจังหวัดพิจิตรว่า จำเลยได้บุกร้างถางทำที่แปลงนี้มา ขอให้เจ้าพนักงานออกตราจองให้จำเลยเจ้าพนักงานหลงเชื่อ จึงได้ออกตราจองเลขที่ 409 ให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 โอนขายให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 สมรู้ร่วมคิดกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ได้ตราจองโดยไม่สุจริต เป็นเหตุให้ นางสาวสมสมัย สิทธิเกษร ได้รับความเสียหาย นางสาวสมสมัยสิทธิเกษร ศึกษาวิชาการอยู่ ณ เมืองต่างประเทศได้มอบอำนาจทั่วไปให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกและฟ้องร้องในเรื่องนี้ ดังสำเนาใบมอบอำนาจท้ายฟ้อง ส่วนต้นฉบับได้ยื่นและอ้างส่งศาลไว้ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 160/2492 แดงที่ 191/2492 ของศาลจังหวัดพิจิตร จึงขอให้ศาลแสดงว่าที่นารายนี้เป็นของนางสาวทองใบ สิทธิเกษร ตกทอดเป็นมรดกของนางสาวสมสมัย สิทธิเกษร ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเกี่ยวข้อง สั่งทำลายตราจองที่ 409 และแสดงว่านิติกรรมการโอนระหว่าง จำเลยที่ 1 กับที่ 2 เป็นโมฆะ หรือถ้าหากศาลวินิจฉัยว่าการโอนสมบูรณ์ ก็ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ใช้เงิน 50,000 บาทเป็นค่านาให้แก่นางสาวสมสมัย สิทธิเกษร กับให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมค่าทนายความแทนโจทก์ด้วย ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอเพิ่มฟ้องอีกว่า “การที่จำเลยที่ 1 ขอตราจองก็ดี การรับซื้อรับโอนขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ก็ดี โจทก์และนางสาวสมสมัยไม่ทราบเลย เพิ่งมาทราบหลังจากจำเลยที่ 2 ฟ้องนางมี พรหมสุวรรณ กับพวกในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 77/2492 โดยนางมีบอกและเพิ่งค้นหาหลักฐานสัญญารับซื้อฝากจากนางมีได้ที่อำเภอตะพานหิน โจทก์จึงรู้สึกว่า จำเลยทุจริตโกงนาของนางสาวสมสมัย” ศาลอนุญาต
นายชอบ เอี่ยมเลี่ยมดี จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ต่อสู้ว่า นางสาวทองใบ สิทธิเกษร เป็นภรรยาของจำเลย ในระหว่างอยู่กินด้วยกัน นางมี พรหมสุวรรณ ได้ขายฝากที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่แปลงหนึ่ง จำเลยให้ใส่ชื่อนางสาวทองใบเป็นผู้รับการขายฝาก แต่จำเลยได้จ่ายเงินส่วนตัวให้นางมี พรหมสุวรรณ ไปเป็นเงิน 1,500 บาทและที่ดินนี้ได้หลุดมาเป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยจึงไปขอให้เจ้าพนักงานทำการรังวัดสอบเขตและออกตราจองให้จำเลย ต่อมาจำเลยได้ขายที่นี้ให้นายผ่อน จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 25,000 บาทโดยสุจริต และถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อนางสาวสมสมัยไปอยู่ประเทศเยอรมันแล้วไม่ได้ข่าวคราวเลยตั้งแต่ระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 จึงเชื่อว่านางสาวสมสมัยวายชนม์แล้ว และจำเลยที่ 1 ตัดฟ้องว่า (1) ตามสำเนาใบมอบอำนาจท้ายฟ้อง ปรากฏมีการรับรองคำแปลว่า ถูกต้องแสดงว่าใบมอบอำนาจได้ทำเป็นภาษาต่างประเทศ จำเลยจึงถือว่าเมื่อไม่ปรากฏภาษาต่างประเทศด้วยสำเนาใบมอบอำนาจท้ายฟ้องก็ใช้ไม่ได้ เพราะทำไม่ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาและจำเลยไม่รับรองว่าข้อความในหนังสือมอบอำนาจนั้นถูกต้องแท้จริง(2) ตามสำเนาใบมอบอำนาจเป็นการมอบอำนาจเฉพาะการ คือมอบให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดก และรวบรวมมรดกของบิดามารดาและพี่น้องของนางสาวสมสมัย นายเพิ่ม โจทก์จึงไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำได้ตามวัตถุประสงค์ของการมอบอำนาจนี้ เพราะการจัดการมรดกจะมีขึ้นได้ก็โดยศาลตั้งและโดยพินัยกรรม เพราะโจทก์เป็นบุคคลอื่น มิใช่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก (3) ตามสำเนาใบมอบอำนาจท้ายฟ้องที่ว่า “ให้เป็นโจทก์ฟ้องร้องในนามข้าพเจ้าได้ด้วย” นั้น ก็ต่อเนื่องมาจากการมอบอำนาจให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกมิใช่เป็นการมอบอำนาจทั่วไปโจทก์จึงไม่มีสิทธิมาฟ้องจำเลยได้และโจทก์ไม่มีสิทธิแต่งตั้งทนายหรือเข้าดำเนินการตามกระบวนพิจารณา (4) หนังสือมอบอำนาจได้ทำที่ต่างประเทศและไม่ปรากฏว่าทำที่ประเทศใดด้วย ทั้งไม่มีหลักฐานของเจ้าพนักงานประเทศไทยรับรอง และผู้รับรองใบตราสารก็ไม่ใช่ผู้มีสิทธิรับรองได้ตามกฎหมาย หนังสือมอบอำนาจนี้จึงรับฟังไม่ได้ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมค่าทนายแทนจำเลยด้วย
นายผ่าน อุ้ยตา จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า (ก) ที่นารายพิพาทนั้นตนเข้าใจโดยสุจริตว่า นายชอบ เอี่ยมเลี่ยมดี เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เพราะมีการออกตราจองลงชื่อนายชอบเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์(ข) จำเลยที่ 2 ได้รับซื้อที่นี้ไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโดยไปทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ หอทะเบียนที่ดินจังหวัดพิจิตร โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอให้ศาลสั่งทำลายตราจองที่ดินนี้โดยอ้างว่านิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานจำเลยที่ 1 และฟังข้อเท็จจริงว่า หนังสือมอบอำนาจของนางสาวสมสมัยทำถูกต้องสมบูรณ์แล้ว นางสาวทองใบเป็นผู้รับซื้อฝากที่พิพาท ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่านางสาวทองใบเป็นภรรยา และเงินที่รับซื้อฝากเป็นเงินของจำเลยที่ 1 เองรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ได้รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เพิกถอนการโอนไม่ได้ พิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นมรดกนางสาวทองใบ ตกได้แก่นางสาวสมสมัยผู้เดียว ให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาที่ดิน 50,000 บาท แก่โจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เชื่อว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต นอกจากนี้คงเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้น พิพากษาแก้ให้ทำลายการจดทะเบียนการโอนที่พิพาทระหว่างจำเลย และให้ทำลายตราจองนั้นเสีย ยกคำบังคับที่ให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาที่ดิน นอกนั้นคงยืน
จำเลยทั้งสองฎีกาต่อมา ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นงดไม่สืบพยานจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ชอบ ศาลควรจะต้องฟังคำพยาน จำเลยที่ 1 ให้สิ้นกระแสความก่อน จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยที่ 1 ไปตามกระบวนความแล้วพิพากษาใหม่ ค่าธรรมเนียมและค่าทนายความ 3 ศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อพิพากษา
ศาลชั้นต้นจึงทำการพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 1 ต่อไป แล้ววินิจฉัยว่า (1) เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์นั้น เห็นว่าใบมอบอำนาจของนางสาวสมสมัยที่โจทก์อ้างเป็นใบมอบอำนาจที่แท้จริง และโจทก์ไม่จำเป็นต้องส่งสำเนาเอกสารภาษาต่างประเทศนั้นให้แก่จำเลย เพราะต้นฉบับอยู่ในอำนาจศาลอีกสำนวนหนึ่ง (2) ตามใบมอบอำนาจนั้นให้โจทก์มีอำนาจฟ้องความด้วย และผู้รับมอบอำนาจก็มีสิทธิแต่งทนายได้ (3) ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นของนางสาวทองใบ แต่จำเลยที่ 1 ลอบไปขอโฉนดตราจองจากเจ้าพนักงานอ้างว่าได้ครอบครองมา 15 ปีซึ่งไม่เป็นความจริง (4) นางสาวทองใบกับจำเลยที่ 1 มิใช่สามีภรรยากันตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่มีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกับนางสาวทองใบในทรัพย์ที่นางสาวทองใบได้มา (5) จำเลยที่ 2 มิได้รับโอนที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1299 วรรค 2 จึงพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นมรดกนางสาวทองใบตกได้แก่นางสาวสมสมัย ให้ทำลายการจดทะเบียนการโอนที่พิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง และให้ทำลายตราจองที่ 409 เสีย ให้จำเลยทั้งสองเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสิ้นและค่าทนายรวม 2,000 บาทแก่โจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสองคนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืนจำเลยทั้งสองจึงฎีกาคัดค้านต่อมา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว จำเลยฎีกาเป็นข้อแรกว่า โจทก์มิได้คัดสำเนาใบมอบอำนาจให้จำเลยพร้อมกับฟ้องเพื่อให้จำเลยมีโอกาสตรวจพิจารณาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ศาลจึงไม่ควรรับฟังเอกสารนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าไม่มีกฎหมายใดบังคับให้โจทก์คัดสำเนาใบมอบอำนาจให้จำเลยพร้อมกับฟ้องดังจำเลยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 83 วรรคสอง บัญญัติไว้แต่ว่าถ้าประมวลกฎหมายนี้บัญญัติให้ส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าก่อนวันเริ่มต้นนั่งพิจารณาหรือสืบพยาน ให้คู่ความฝ่ายที่ต้องรับผิดในการส่งนั้นยื่นคำคู่ความหรือเอกสารที่จะต้องส่งให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลไม่ต่ำกว่า 3 วัน ก่อนวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่กำหนดล่วงหน้าไว้นั้น ฎีกาข้อแรกของจำเลยซึ่งไม่มีกฎหมายสนับสนุนจึงตกไป
จำเลยฎีกาเป็นข้อ 2 ว่า วิธีการอ้างหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่สุจริต นับแต่เริ่มคดี เพราะโจทก์เองไม่ได้เห็นและไม่ได้รับรองหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเลย จำเลยไม่มีโอกาสใช้หนังสือมอบอำนาจนั้นซักค้านตัวโจทก์หรือเปรียบเทียบกับคำแปลได้ จนนายหยุดแสงอุทัย พยานโจทก์ปากสุดท้ายซึ่งเป็นพยานประเด็นเบิกความ ทั้งคำของนายหยุดที่ว่าการทำหนังสือมอบอำนาจเช่นนี้ นางสาวสมสมัยต้องไปลงชื่อต่อหน้าเจ้าพนักงานเทศบาลเมืองไลป์ซิคประเทศเยอรมันก็เป็นเพียงคาดคะเน เพราะนายหยุดไม่ได้ไปเห็นเอง การที่นายประเสริฐไม่ได้คัดค้านนางสาวสมสมัย ก็ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ศาลวินิจฉัยว่า หนังสือมอบอำนาจนั้นเป็นหนังสือแท้จริง ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ได้กล่าวไว้ในฟ้องแล้วว่า ต้นฉบับใบมอบอำนาจของนางสาวสมสมัยติดอยู่ในสำนวนคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 160/2492 ของศาลจังหวัดพิจิตรนั้นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ อาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90(1) โจทก์ก็มีสิทธิที่จะไม่ต้องยื่นหรือส่งสำเนาเอกสารนั้นต่อศาลเดียวกันในคดีนี้อีก ที่จำเลยอ้างว่าคำของนายหยุด แสงอุทัย ซึ่งอ้างว่าใบมอบอำนาจเช่นนี้ นางสาวสมสมัยต้องไปลงชื่อต่อหน้าเจ้าพนักงานเทศบาลเมืองไลป์ซิคเป็นเพียงการคาดคะเน เพราะนายหยุดไม่ได้เห็นเองนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์อ้างนายหยุดเป็นพยานผู้ชำนาญ ไม่ได้อ้างในฐานเป็นประจักษ์พยาน เพราะฉะนั้นศาลอาจรับฟังความเห็นของนายหยุดได้ ส่วนความเห็นนั้นจะมีน้ำหนักเพียงใด ย่อมแล้วแต่พฤติการณ์ สำหรับเรื่องนี้ศาลเห็นว่าน่าจะฟังเป็นความจริงได้ เพราะความเห็นของนายหยุดเป็นความเห็นทางวิทยาการและประกอบด้วยเหตุผลอันดี ฎีกาข้อสองของจำเลยจึงตกไป
จำเลยฎีกาเป็นข้อ 3 ว่า สำเนาคำแปลใบมอบอำนาจของนางสาวสมสมัยลงวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1949 แต่ตอนเจ้าพนักงานรับรอง ลงวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1949 แต่ศาลอุทธรณ์ก็ยังเห็นว่าเป็นเพียงสำเนาคำแปลลงเดือนผิดพลาดไป ไม่เป็นข้อแสดงพิรุธอย่างใดจึงเป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเอกสารต่าง ๆ ที่คู่ความอ้างเป็นพยานนั้น ถ้าต้นฉบับถูกต้องสมบูรณ์ แม้สำเนาหรือคำแปลของเอกสารนั้นจะไม่ถูกต้อง ก็ไม่ทำให้ต้นฉบับนั้นเสียไป ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงตกไปอีก
จำเลยฎีกาเป็นข้อ 4 ว่าการที่โจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารภาษาต่างประเทศให้จำเลย ส่งแต่เพียงสำเนาและคำแปล แต่ศาลอุทธรณ์ก็ยังว่าเห็นสมควรรับฟังพยานหลักฐานในเรื่องมอบอำนาจนี้ได้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 นั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นว่ามาตรา 78 ตอนท้ายมีไว้เพื่อควบคุมให้การพิจารณาเป็นธรรมอย่างมากที่สุดที่จะเป็นไปได้เพราะฉะนั้น แม้คู่ความจะอ้างพยานหลักฐานอย่างผิดระเบียบก็ให้ศาลพิเคราะห์ถึงความสัตย์จริงเป็นข้อใหญ่ ถ้าศาลเห็นว่าการอ้างพยานหลักฐานใดจะช่วยให้ได้ความจริงดีขึ้น แม้จะมีการปฏิบัติผิดระเบียบก็ให้ศาลรับฟังได้ การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังใบมอบอำนาจของนางสาวสมสมัยในคดีนี้ก็เพราะศาลอุทธรณ์เห็นว่า การรับฟังเช่นนั้นจะยังให้เกิดความยุติธรรม ซึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยเหตุผลศาลฎีกาจึงไม่เห็นมีเหตุที่จะสั่งแก้ ฎีกาข้อนี้เป็นอันตกไป
จำเลยฎีกาเป็นข้อ 5(ก) ว่า ข้อความในหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ มีข้อความชัดว่าให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดก แต่ศาลอุทธรณ์กลับว่า หนังสือมอบอำนาจได้ระบุมอบอำนาจให้นายเพิ่มเป็นตัวแทนรวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายหาใช่เป็นเรื่องแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกไม่ โจทก์จึงอ้างหนังสือมอบอำนาจนี้มาฟ้องจำเลยไม่ได้ ศาลฎีกาได้ตรวจคำแปลใบมอบอำนาจดังสำเนาท้ายฟ้องแล้ว หนังสือนี้มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ขอมอบอำนาจพร้อมนี้ให้กับ นายเพิ่มวงษ์ทองเหลือ ที่จะเป็นผู้แทนข้าพเจ้าในการจัดการแบ่งมรดก และรวบรวมมรดกของบิดามารดาข้าพเจ้า และพี่น้องทั้งสองของข้าพเจ้าที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจนรวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดของข้าพเจ้าและในกรณีที่กล่าวแล้วให้เป็นโจทก์ฟ้องร้องในนามข้าพเจ้าได้ด้วย”ศาลฎีกาเห็นว่าตามข้อความดังกล่าวข้างต้น จะถือไม่ได้เลยว่านางสาวสมสมัยมอบให้นายเพิ่มโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก เพราะนางสาวสมสมัยยังไม่ทันจะตายจะมอบให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกนางสาวสมสมัยได้อย่างไร และนางสาวสมสมัยจะแต่งตั้งให้นายเพิ่มเป็นผู้จัดการมรดกของบิดามารดาและพี่น้องของนางสาวสมสมัยก็ไม่ได้ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1711 ผู้จัดการมรดกจะมีได้แต่โดยพินัยกรรมหรือศาลแต่งตั้งเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อความในหนังสือมอบอำนาจของนางสาวสมสมัยเป็นการมอบอำนาจให้นายเพิ่มเป็นผู้รวบรวมมรดกของผู้ตาย จึงเป็นการชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้จึงตกไปอีก
จำเลยฎีกาเป็นข้อ 5(ข) ว่า ในสำเนาหนังสือมอบอำนาจมิได้บ่งว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปโจทก์เคยใช้หนังสือมอบอำนาจนี้ครั้งหนึ่งแล้ว ในคดีแดงที่ 191/2492 จะนำมาใช้ในคดีนี้อีกไม่ได้ศาลฎีกาเห็นว่าใบมอบอำนาจของนางสาวสมสมัยมีลักษณะเป็นใบมอบอำนาจทั่วไปอยู่ในตัว เพราะการจัดการแบ่งมรดกและรวบรวมมรดกของผู้ตายนั้น อาจมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการทางคดีบ่อย ๆ ใบมอบอำนาจของนางสาวสมสมัยจึงมีความว่า “ในกรณีที่กล่าวแล้วให้เป็นโจทก์ฟ้องร้อง ในนามของข้าพเจ้าได้ด้วย” ซึ่งต้องแปลว่าในทุกกรณีที่มีความจำเป็นนั่นเอง ฎีกาจำเลยข้อนี้จึงไร้สาระทีเดียว
จำเลยฎีกาเป็นข้อ 6 ว่า นายเพิ่มซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจแต่งทนายว่าคดีแทนตนได้ ศาลฎีกาเห็นว่านายเพิ่มโจทก์ได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้แทนนางสาวสมสมัยในคดี กรณีจึงต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 วรรคสอง คือ นายเพิ่มจะว่าความเองไม่ได้ เป็นทนายในคดีนี้ก็ไม่ได้ แต่จะตั้งทนายความได้ ฎีกาจำเลยจึงตกไปอีก
จำเลยฎีกาเป็น ข้อ 7 ว่า จำเลยได้ให้การไว้แต่แรกว่า ใบมอบอำนาจไม่ถูกต้อง ไม่มีหลักฐานของเจ้าพนักงานประเทศไทยรับรอง และผู้รับรองในเอกสารก็ไม่ใช่ผู้มีสิทธิรับรองได้ตามกฎหมาย จำเลยเชื่อว่านางสาวสมสมัยผู้มอบอำนาจได้วายชนม์ไปแล้ว หนังสือมอบอำนาจจึงใช้ไม่ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ว่าเอกสารนี้ทำถูกแบบแล้ว จึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 ศาลฎีกาเห็นว่าใบมอบอำนาจของโจทก์นั้นโจทก์ได้ส่งไว้ในคดีแพ่งเลขดำที่ 160/2492 ของศาลจังหวัดพิจิตร จนศาลนั้นพิจารณาพิพากษาเสร็จแล้ว โจทก์จึงนำมาอ้างเพื่อฟ้องคดีนี้อีก ซึ่งศาลที่ทำการพิจารณาโดยอาศัยใบมอบอำนาจนี้เป็นหลักก็ไม่ได้สงสัยว่าใบมอบอำนาจที่ยื่นนั้นจะไม่ใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริง ศาลจึงไม่ต้องให้โจทก์ทำอะไรอีกตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47
จำเลยฎีกาเป็นข้อ 8 ว่า คดีนี้ปรากฏในหน้าฟ้องว่า นายเพิ่มเป็นโจทก์เอง แต่ไม่ปรากฏว่านายเพิ่มมีสิทธิหรือเกี่ยวข้องในทรัพย์พิพาทอย่างใด นายเพิ่มจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย แต่ศาลฎีกาเห็นว่าในหน้าฟ้องกล่าวไว้ชัดแล้วว่า นายเพิ่มผู้รับมอบอำนาจจากนางสาวสมสมัยเป็นโจทก์ ข้อฎีกาของจำเลยจึงไร้สาระดังที่ศาลอุทธรณ์ว่า
บัดนี้จะได้พิจารณาประเด็นสำคัญซึ่งพิพาทกันในคดีต่อไปคือ(1) ที่นาพิพาทเป็นของนางสาวสมสมัย หรือของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ขอโฉนดตราจองสำหรับที่นี้โดยสุจริตหรือไม่ และ (2) จำเลยที่ 2 รับโอนที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตหรือไม่
ข้อเท็จจริงโจทก์นำสืบว่า ที่ดินรายพิพาทเดิมเป็นของนางมีพรหมสุวรรณ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2484 นางมีได้ขายฝากที่นี้ไว้แก่นางสาวทองใบ สิทธิเกษร เป็นเงิน 1,500 บาท กำหนดไถ่คืนภายใน 5 ปี เมื่อครบกำหนดนางมีไม่ไถ่คืน ที่นี้จึงตกเป็นของนางสาวทองใบตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2487 นางสาวทองใบ ได้ไปยื่นคำร้องต่อหอทะเบียนที่ดินจังหวัดพิจิตร เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2490 ขอออกโฉนดตราจองที่ดินรายนี้เพราะได้ทำประโยชน์แล้วเจ้าหน้าที่มีหมายนัดเจ้าของที่ดินไประวังชี้แนวเขตเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2490 แต่นางสาวทองใบยังไม่ทันรับโฉนดก็ตายเสียเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2491 ต่อมาโจทก์ทราบว่านายชอบ จำเลยที่ 1 ได้ขอออกโฉนดตราจองเอาที่นี้เป็นของตนอ้างว่าได้ครอบครองมา 15 ปี ซึ่งไม่เป็นความจริง เจ้าพนักงานหลงเชื่อจึงได้ออกตราจองให้ ทั้ง ๆ ที่นางสาวทองใบได้ขออยู่ก่อนแล้ว นางสาวทองใบตายโดยไม่มีพินัยกรรม ทรัพย์สินของนางสาวทองใบรวมทั้งที่รายพิพาทเป็นมรดกตกได้แก่นางสาวสมสมัยสิทธิเกษร ผู้เป็นน้อง ซึ่งขณะนี้อยู่ที่เมืองไลป์ซิค ประเทศเยอรมันนี การที่นายผ่านจำเลยที่ 2 รับโอนที่รายนี้ไว้จากนายชอบจำเลยที่ 1 นั้นเป็นการโอนโดยไม่สุจริต เพราะนายผ่านเป็นผู้ใหญ่บ้าน ตำบลทับคล้อซึ่งที่ดินวิวาทตั้งอยู่ และที่นี้อยู่ห่างบ้านนายผ่าน ราว 2 กิโลเมตรเศษเท่านั้น นายผ่านเองก็เคยบอกกับนายเพิ่มโจทก์บนรถไฟ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2493 ว่าเขารู้ว่าที่พิพาทเป็นของนางสาวทองใบ แต่จ่านายสิบตำรวจกรีบอกให้ซื้อไว้เขาจึงซื้อไว้ โดยตกลงราคากัน 50,000 บาท แต่นายผ่านชำระเงินให้นายชอบเพียง 25,000 บาทเท่านั้น อีก 25,000 บาท นายผ่านทำเป็นหนังสือกู้เงินนายชอบ แล้วมอบให้จ่านายสิบตำรวจกรียึดไว้ทั้งนี้ก็เพราะเกรงว่าจะไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2493 นายเพิ่มโจทก์ พบจ่านายสิบตำรวจกรีที่สภาผู้แทนราษฎร จ่านายสิบตำรวจกรีบอกว่า นายผ่านยังไม่ได้ชำระเงินอีก 25,000 บาท ให้นายชอบ
ฝ่ายนายชอบ จำเลยที่ 1 นำสืบว่า รู้จักกับนางสาวทองใบตั้งแต่พ.ศ. 2481 และได้ไปมาหาสู่เสมอ ในที่สุดจำเลยได้เสียกับนางสาวทองใบอย่างลับ ๆ และเพิ่งอยู่อย่างเปิดเผยเมื่อ พ.ศ. 2485 แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสเมื่อ พ.ศ. 2484 นางมีนำนาพิพาทมาขายฝากนางสาวทองใบเป็นเงิน 1,500 บาทนางสาวทองใบว่าไม่มีเงิน นายชอบว่ามีตกลงรับซื้อฝากโดยมีกำหนดไถ่คืนภายใน 5 ปี โดยจะไปทำสัญญากันที่อำเภอภายใน 2-3 วัน ซึ่งนางสาวทองใบว่าจะไปทำแทนจำเลย ต่อจากนั้นนายชอบจำเลยให้เงินนางสาวทองใบไป 1,500 บาท เพื่อทำสัญญากับนางมี เมื่อครบ 5 ปีแล้ว นางมีไม่ไถ่ นายชอบจำเลยจึงเรียกนางมีมาทำสัญญาเช่านาจากนายชอบ ปีแรกได้ค่าเช่าเป็นข้าว 4 เกวียนปีที่สองได้ 3 เกวียน ต่อมาใน พ.ศ. 2491 เมื่อนางสาวทองใบตายแล้วประมาณ 1 เดือน นายชอบจำเลย ได้ไปร้องขอออกโฉนดตราจองสำหรับที่พิพาทที่หอทะเบียนจังหวัดพิจิตร อ้างว่าได้โก่นสร้างมา 10 กว่าปีซึ่งจำเลยรู้ว่าไม่เป็นความจริง ทางหอทะเบียนก็จัดการให้สัญญาที่นางมีเช่าที่นานั้น เวลานี้ไม่มี เข้าใจว่านายสังวาลย์อาของนางสาวทองใบคงจะเก็บเอาไป ครั้นได้ตราจองมาแล้ว 2-3 เดือนใน พ.ศ.2492 นายชอบก็ขายนาพิพาทให้แก่นายผ่าน จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 25,000 บาท โดยทำสัญญากันที่หอทะเบียนที่ดิน จังหวัดพิจิตร จำเลยที่ 1ไม่เคยทำสัญญากู้เงินนายผ่าน จำเลยที่ 2 การที่นางสาวทองใบไปทำประกาศ และทำสัญญาขายฝากกับนางมีนั้น นายชอบจำเลยไม่ได้ทำหนังสือมอบฉันทะให้ไป พยานที่ลงชื่อในสัญญาเช่านาที่นางมีทำให้จำเลยไว้เป็นใคร จำเลยจำไม่ได้ ตามสัญญานางมีตกลงให้ค่าเช่าเป็นข้าวปีละ 15 เกวียน
นายผ่าน อุ้ยตา จำเลยที่ 2 นำสืบว่า ได้ซื้อนารายพิพาทจากนายชอบ จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2492 โดยทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์กันที่หอทะเบียนที่ดิน เมื่อซื้อแล้วเข้าทำนาไม่ได้เพราะนางมีกับพวกขัดขวางไม่ให้เข้าทำ จึงได้ฟ้องนางมีเป็นคดีขึ้น แต่แรกจำเลยที่ 2 เห็นนางมีทำนาพิพาทอยู่ ก็คิดว่าเป็นนางมีแต่จำเลยที่ 1 บอกว่าเป็นนาของเขา มีโฉนดแล้วและจะขาย จำเลยที่ 2 จึงรับซื้อไว้ นานี้อยู่ห่างบ้านจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเพียง 2 กิโลเมตร เมื่อจำเลยที่ 2 ตกลงซื้อที่นารายนี้แล้ว จำเลยที่ 1 จึงพาไปดู เมื่อยังไม่ได้ดูนา จำเลยที่ 1 ไม่ได้บอกราคาขายเมื่อดูแล้วเขาบอกว่าราคา 30,000 บาท จำเลยที่ 2 ต่อ 25,000 บาท เขาก็ตกลงขาย
ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาพิเคราะห์เห็นว่าข้อนำสืบของฝ่ายจำเลยมีน้ำหนักสู้ของฝ่ายโจทก์ไม่ได้ ที่นายชอบจำเลยที่ 1 อ้างว่าแท้จริงตนเป็นคนออกเงินรับซื้อฝากนาพิพาทจากนางมีนั้น ขัดกับหลักฐานในสัญญาขายฝาก ซึ่งปรากฏว่านางสาวทองใบลงนามเป็นผู้รับซื้อฝากเอง ที่จำเลยอ้างว่านางสาวทองใบไปทำสัญญาแทนตน จำเลยก็ไม่มีใบมอบอำนาจมาสนับสนุนข้ออ้างที่จำเลยอ้างว่ายอมให้ใส่ชื่อนางสาวทองใบเป็นผู้รับซื้อฝากเพราะเป็นสามีภรรยากันแล้วก็ขัดกับเหตุผลเพราะจำเลยที่ 1 กับนางสาวทองใบหาได้เป็นสามีภรรยากันตามกฎหมายไม่ คดีจึงน่าเชื่อว่าที่รายพิพาทนี้ นางสาวทองใบรับซื้อฝากเอง จำเลยที่ 1 เป็นแต่เข้าสวมรอยเมื่อนางสาวทองใบตายแล้ว เพื่อจะขอโอนโฉนดตราจองเท่านั้น ซึ่งการขอตราจองนี้เองจำเลยก็ให้การรับในศาลว่าที่ตนอ้างต่อเจ้าพนักงานว่าได้ครอบครองทำประโยชน์มาครบ 10 ปีนั้น ไม่เป็นความจริง เรื่องการให้นางมีเช่านาก็ฟังไม่ได้ดุจกัน เพราะถ้ามีการเช่ากันจริงโดยจำเลยเป็นผู้ให้เช่า จำเลยน่าจะต้องยึดถือสัญญาเช่าไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งจำเลยก็หามีไม่ เรื่องค่าเช่าที่ว่าตกลงกันเป็นข้าวปีละ 15 เกวียนจำเลยก็บอกว่า ความจริงได้เพียงปีละ 3-4 เกวียน แล้วจำเลยก็ยังยอมจึงไม่น่าเชื่อว่าคนอย่างจำเลยจะทำอย่างนั้นได้ สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ก็รับอยู่ว่าตนเป็นผู้ใหญ่บ้านในตำบลที่นาพิพาทตั้งอยู่และนานั้นอยู่ห่างบ้านตนเพียง 2 กิโลเมตร แต่แรกคิดว่านาเป็นของนางมีเมื่อจำเลยที่ 2แสดงตราจองให้ดูและบอกขายจำเลยที่ 2 ก็ตกลงรับซื้อทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้เห็นนาว่าอยู่ตรงไหนแน่และทั้ง ๆที่ยังไม่ได้ตกลงราคากันก่อน เพิ่งมาพูดเรื่องราคากันภายหลังซึ่งล้วนผิดวิธีที่ปกติชนจะพึงทำทั้งสิ้น คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มิได้รับซื้อนานี้ไว้จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ทำลายการโอนระหว่าง จำเลยที่ 1 และที่ 2และให้ทำลายตราจองซึ่งมีชื่อ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เสียนั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาจึงพิพากษายืน ให้จำเลยช่วยกันใช้ค่าธรรมเนียมค่าทนายชั้นฎีกา 800 บาท ให้แก่โจทก์ด้วย