คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1147/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ส่งสำเนาบัญชีกระแสรายวันให้จำเลยแล้วตั้งแต่ขณะยื่นฟ้องตามเอกสารท้ายฟ้อง จำเลยสามารถตรวจสอบยอดหนี้และรายการคิดดอกเบี้ยได้มาตั้งแต่ต้น การที่จำเลยเพิ่งมายื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังวันสืบพยานว่าเป็นหนี้โจทก์อยู่เพียงประมาณ 300,000 บาท จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก่อนวันดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันชำระเงินตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากตราที่ประทับในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ใช่ตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ที่จดทะเบียนไว้ตามกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเพราะสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1ขอให้ยกฟ้อง

ก่อนสืบพยานโจทก์จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การว่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 ซึ่งเป็นบัญชีกระแสรายวันนั้นโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2539 จนถึงวันฟ้องไม่ถูกต้องเพราะโจทก์บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ถึง 21.5 ต่อปี ของต้นเงิน 12,906,705 บาท ไม่ใช่ของต้นเงิน14,633,799.29 บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต

หลังจากสืบพยานโจทก์ไป 1 ปากแล้ว จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การโดยอ้างว่า เพิ่งทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งเป็นบัญชีกระแสรายวันตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 ว่า โจทก์ทำขึ้นไม่ถูกต้องและจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ไปบางส่วนแล้ว ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่เพียง300,000 บาทเศษ เท่านั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องเมื่อสืบพยานโจทก์ไปแล้วและหลักฐานที่อ้างอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 เอง ทำให้โจทก์เสียเปรียบ จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2541 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองเป็นเงิน15,834,372.22 บาท พร้อมดอกเบี้ย ต่อมาในวันที่ 21 สิงหาคม 2541 จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การสรุปใจความว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์12,906,705 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าว มิใช่จากต้นเงินตามฟ้องและต่อมาในวันที่ 2 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสามแถลงต่อศาลว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์จริง แต่ไม่เท่าจำนวนที่โจทก์ฟ้องขออนุญาตเลื่อนคดีเพื่อไปเจรจากับผู้มีอำนาจของโจทก์ ศาลอนุญาต ภายหลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การเมื่อวันที่8 กรกฎาคม 2542 ว่า จำเลยทั้งสามคงเป็นหนี้โจทก์อยู่เพียง 300,000 บาทเศษเท่านั้นศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต ให้ยกคำร้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า คำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180จำเลยที่ 1 จะต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การต่อศาลเสียก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถานเว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 1ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย จึงมีข้อพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 ไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยมีเหตุอันสมควรหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าการตรวจยอดหนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระจากบัญชีกระแสรายวันนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ส่งสำเนาบัญชีกระแสรายวันให้จำเลยที่ 1 แล้วตั้งแต่ขณะยื่นฟ้องตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 หรือตามเอกสารหมาย จ.8 ที่โจทก์ส่งอ้างทั้งยังได้ความว่า ในวันที่ 21 สิงหาคม 2541 จำเลยทั้งสามได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ 12,000,000บาทเศษ ที่มาของยอดหนี้จำเลยทั้งสามอาศัยการคิดคำนวณจากบัญชีกระแสรายวันดังกล่าว เป็นข้อยืนยันอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ 1 สามารถตรวจสอบยอดหนี้และรายการคิดดอกเบี้ยได้มาตั้งแต่ต้น การที่จำเลยที่ 1 เพิ่งมายื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังจากโจทก์ได้ยื่นฟ้องและได้รับสำเนาบัญชีกระแสรายวันแล้วประมาณ 1 ปีเศษ ทั้งอ้างว่า เป็นหนี้โจทก์อยู่เพียงประมาณ300,000 บาท แตกต่างจากที่จำเลยทั้งสามเคยรับในคำร้องขอแก้ไขคำให้การครั้งก่อนถึง 12,000,000 บาทเศษ จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้ดังจำเลยที่ 1 อ้างและยังมีพฤติการณ์ส่อไปในทางประวิงคดีจนกระทั่งบัดนี้ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษา ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษายกคำร้องของจำเลยที่ 1 นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share