แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาตั้งโจทก์เป็นตัวแทน นายหน้า ในการซื้อขายหลักทรัพย์ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นความผูกพันในฐานะตัวการกับตัวแทนซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 การที่จำเลยสั่งให้โจทก์ขายหุ้นเพียง 10,000 หุ้น แต่โจทก์ขายหุ้นไป 20,000 หุ้น และส่งมอบเงินที่ขายได้ทั้งหมดให้แก่จำเลยซึ่งมียอดเงินที่จำเลยรับไว้เกินจำนวน 2 แสนบาทเศษนั้น เป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะตัวแทนจำเลยชำระเงินให้จำเลยเกินจำนวนที่จำเลยสั่งให้ขายหุ้น จำเลยจึงต้องคืนเงินส่วนที่เกินมาพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้ตกลงให้โจทก์เป็นตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์ โจทก์ได้ขายหลักทรัพย์ของบริษัทกรุงเทพโปรดิ๊วส์ จำกัด (BKP) จำนวน20,000 หุ้น ตามคำสั่งของจำเลยได้เงิน 502,475 บาท โจทก์ได้ชำระเงินให้จำเลยแล้ว แต่จำเลยผิดสัญญาส่งมอบหลักทรัพย์ให้โจทก์เพียง 10,000 หุ้นเท่านั้น โจทก์ต้องจัดซื้อหลักทรัพย์และส่งมอบให้ผู้ซื้อแทนจำเลยอีก 10,000 หุ้น เป็นเงิน 253,762.50บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 484,686.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ21 ต่อปี ของต้นเงิน 253,762.50 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้สั่งให้โจทก์ขายหลักทรัพย์จำนวน 20,000 หุ้นโจทก์ขายหลักทรัพย์ดังกล่าวเพียง 10,000 หุ้นเท่านั้น หลักทรัพย์จำนวน 20,000 หุ้น ที่โจทก์นำออกขายด้วยความผิดพลาดของพนักงานโจทก์และได้ส่งมอบเงินที่ขายได้ให้จำเลยเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จำเลยได้รับไว้โดยสุจริต โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดให้จำเลยปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าว คือวันที่ 7 มีนาคม 2540 โจทก์ชอบที่จะเรียกเงินคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยภายใน 1 ปี คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 253,762 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 มกราคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 253,762 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาประการต่อไปว่า จำเลยสั่งให้โจทก์ขายหุ้นจำนวน 10,000 หุ้น มิใช่ 20,000 หุ้น ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ในประเด็นนี้ โจทก์นำนางสาวปริญดา แซ่ยิ้ว กับนางสาวโสภิณวิโรจน์ศิริชัย เบิกความว่า จำเลยเป็นผู้สั่งให้โจทก์ขายหุ้นของจำเลยจำนวน 20,000 หุ้น แต่นางสาวปริญดาเบิกความว่าขณะที่ซื้อขายหุ้นคดีนี้ ตนยังไม่ได้เข้ามาทำงานกับโจทก์ แต่ที่ทราบเรื่องนี้เพราะทราบจากการตรวจดูเอกสาร พยานปากนี้ของโจทก์จึงมิใช่ประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ในการสั่งให้ซื้อขายหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยส่วนนางสาวโสภิณก็เบิกความว่าทราบเรื่องนี้จากเพื่อนร่วมงานไม่มีส่วนรู้เห็นในขณะที่มีการสั่งซื้อขายหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์คงมีแต่หนังสือสัญญาตัวแทนนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์มาแสดง ซึ่งจำเลยก็ยอมรับว่าได้ทำสัญญาจริง คดีจึงคงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยได้มอบหมายให้โจทก์เป็นตัวแทนขายหุ้นในวันที่ 8 มกราคม 2536โจทก์ได้ขายหุ้นแทนจำเลยและโจทก์ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยจำนวน 825,850 บาท เท่านั้น แต่พยานโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยสั่งให้ขายหุ้นจำนวน 20,000 หุ้นหรือเพียง 10,000 หุ้นตามที่จำเลยอ้างนั้น พยานบุคคลที่โจทก์นำสืบเป็นเพียงพยานบอกเล่าไม่รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะที่มีการสั่งให้ขายหุ้นจึงรับฟังเป็นพยานไม่ได้ ประกอบกับจำเลยก็ให้การปฏิเสธว่าสั่งให้โจทก์ขายหุ้นเพียง 10,000 หุ้นเท่านั้น เมื่อโจทก์มีภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้ แต่โจทก์สืบไม่สมทั้งหลังทำสัญญาขายหุ้นแล้วโจทก์ก็ไม่ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยส่งมอบหุ้นจำนวน 10,000 หุ้น ที่ยังขาดอยู่ให้ครบถ้วนตามที่ตกลงไว้ในสัญญาตัวแทนและหรือนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เอกสารหมาย จ.5 โจทก์พึ่งมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540 หลังจากทำสัญญาขายหุ้นแล้วถึง 4 ปี พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยสั่งให้โจทก์ขายหุ้นจำนวน 20,000 หุ้น คงฟังได้แต่เพียงเท่าที่จำเลยรับว่าสั่งให้โจทก์ขายเพียง 10,000หุ้นเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยสั่งให้โจทก์ขายหุ้นบริษัทกรุงเทพโปรดิ๊วส์ จำกัด (BKP) จำนวน 20,000 หุ้น จำเลยยังไม่ได้ส่งมอบหุ้นอีกจำนวน 10,000 หุ้นให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น ส่วนฎีกาข้อต่อไปของจำเลยที่ว่าคดีขาดอายุความแล้ว เนื่องจากเป็นเรื่องลาภมิควรได้มิใช่เรื่องตัวแทนนั้น เห็นว่า จำเลยรับว่าได้ทำสัญญาตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทน นายหน้า ในการซื้อขายหลักทรัพย์ดังนั้น ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นความผูกพันในฐานะตัวการกับตัวแทน ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยเกินจำนวนที่จำเลยสั่งให้ขายก็เป็นการกระทำที่อยู่ในฐานะของตัวแทนของจำเลย โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด 10 ปี จึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยสั่งให้โจทก์ตัวแทนขายหุ้นเพียง 10,000หุ้น แต่โจทก์ขายหุ้นไปจำนวน 20,000 หุ้น และส่งมอบเงินที่ขายได้ทั้งหมดจำนวน502,475 บาทให้แก่จำเลย จึงมียอดเงินที่จำเลยรับไว้เกินเป็นจำนวน 251,237.50 บาท จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2540 ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินที่รับชำระไว้เกินจำนวน 251,237.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์