คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9675/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้จำเลยอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสองที่จำเลยอุทธรณ์ว่าที่ดินของโจทก์มีทางเข้าออกหรือสามารถเข้าออกหรือใช้ประโยชน์จากน้ำในคลองมหาสวัสดิ์ได้อย่างสะดวก การที่จำเลยอาศัยอยู่ในบริเวณที่ดินพิพาทมิได้ปิดบังหรือกีดขวางทางเข้าออกคลองมหาสวัสดิ์นั้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามกฎหมายมาตราดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์แล้ววินิจฉัยว่าที่ดินของโจทก์มีทางเข้าออกหรือสามารถเข้าหรือใช้ประโยชน์จากน้ำในคลองมหาสวัสดิ์ได้อย่างสะดวกการที่จำเลยอาศัยอยู่ในบริเวณที่ดินพิพาทมิได้ปิดบังหรือกีดขวางทางเข้าออกคลองมหาสวัสดิ์แต่อย่างใดนั้น เป็นการไม่ชอบ ต้องถือว่าข้อเท็จจริงได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
เมื่อจำเลยใช้สิทธิของตนปลูกบ้านในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินปิดหน้าที่ดินของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถจะใช้หรือได้รับประโยชน์จากที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นได้โดยสะดวก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายในการใช้ที่ดินของโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ กรณีต้องบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421และ 1337 การที่จำเลยปลูกบ้านอยู่ก่อนก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ผู้มาทีหลังต้องเสียสิทธิดังกล่าวไม่ โจทก์จึงมีสิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือความเดือดร้อนให้สิ้นไปโดยฟ้องจำเลยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของกรมชลประทานอันเป็นการกีดขวางทางที่โจทก์เข้าออกเพื่อใช้ประโยชน์ในคลองมหาสวัสดิ์อันเป็นทางสาธารณะได้

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งห้าสำนวนว่าโจทก์ และเรียกจำเลยในแต่ละสำนวนคือ นางนาค ภิรมย์จันทร์ ว่าจำเลยที่ 1 เรียกนางมะลิ เนียมแตง ว่าจำเลยที่ 2 เรียกนางอารีย์หรืออารี จ่างแสง หรือพิศวงศ์ณรงค์ หรือสกุลพิสวงษ์ณรงค์ ว่าจำเลยที่ 3 เรียกนางปรานอม เนียมแตง ว่าจำเลยที่ 4และเรียกนายยิ่ง ภิรมย์จันทร์ ว่าจำเลยที่ 5

โจทก์ฟ้องทั้งห้าสำนวน ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้ารื้อถอนขนย้ายสิ่งปลูกสร้างทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ และที่ดินที่จำเลยทั้งห้ากีดขวางโจทก์เข้าออกคลองมหาสวัสดิ์อันเป็นทางสาธารณะหากจำเลยทั้งห้าไม่รื้อถอนขนย้ายสิ่งปลูกสร้างทรัพย์สินและบริวารออกไปขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการโดยจำเลยทั้งห้าเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและให้จำเลยแต่ละสำนวนใช้ค่าขาดประโยชน์เดือนละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งห้าจะรื้อถอนขนย้ายสิ่งปลูกสร้างทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์

จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้ารื้อถอนขนย้ายสิ่งปลูกสร้างทรัพย์สิน และบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทั้งห้าปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของกรมชลประทานอันเป็นการกีดขวางทางที่โจทก์เข้าออกเพื่อใช้ประโยชน์ในคลองมหาสวัสดิ์ ให้จำเลยแต่ละคนใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์คนละ 50 บาท ต่อเดือนนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 14 กรกฎาคม 2540) จนกว่าจำเลยแต่ละคนจะรื้อถอนขนย้ายสิ่งปลูกสร้างทรัพย์สิน และบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก

จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินคนละ 1,200 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งห้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทั้งห้าปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของกรมชลประทาน อันเป็นการกีดขวางทางที่โจทก์เข้าออกเพื่อใช้ประโยชน์ในคลองมหาสวัสดิ์ อันเป็นทางสาธารณะหรือไม่ คดีนี้ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งห้าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคสอง ที่จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ว่า ที่ดินของโจทก์มีทางเข้าออกหรือสามารถเข้าออกหรือใช้ประโยชน์จากน้ำในคลองมหาสวัสดิ์ได้อย่างสะดวก การที่จำเลยทั้งห้าอาศัยอยู่ในบริเวณที่ดินพิพาทมิได้ปิดบังหรือกีดขวางทางเข้าออกคลองมหาสวัสดิ์แต่อย่างใดนั้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามกฎหมายมาตราดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมาไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์แล้ววินิจฉัยว่าที่ดินของโจทก์มีทางเข้าออกหรือสามารถเข้าออกหรือใช้ประโยชน์จากน้ำในคลองมหาสวัสดิ์ได้อย่างสะดวก การที่จำเลยทั้งห้าอาศัยอยู่ในบริเวณที่ดินพิพาทมิได้ปิดบังหรือกีดขวางทางเข้าออกคลองมหาสวัสดิ์แต่อย่างใดนั้นเป็นการไม่ชอบ ต้องถือว่าข้อเท็จจริงได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งห้าได้รื้อบ้านออกจากเขตที่ดินของโจทก์แล้ว คงปลูกอยู่แต่เฉพาะบริเวณริมคลองมหาสวัสดิ์ ติดกับหน้าที่ดินของโจทก์ด้านที่ติดกับคลองมหาสวัสดิ์อันเป็นเขตที่ดินของกรมชลประทานเป็นที่ชายตลิ่งซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน คลองมหาสวัสดิ์ นั้นกว้างประมาณ 40 เมตร ประชาชนยังใช้เป็นทางสัญจร บ้านของจำเลยทั้งห้าปลูกก่อนที่โจทก์จะมาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ ได้ความเช่นนี้เห็นว่า สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น คือ ทรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304 บัญญัติไว้ โจทก์ซึ่งเป็นประชาชนคนหนึ่งชอบที่จะใช้สอยที่ดินที่จำเลยทั้งห้าปลูกบ้านอยู่ได้เช่นกัน ฉะนั้น เมื่อจำเลยทั้งห้าใช้สิทธิของตนปลูกบ้านในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินปิดหน้าที่ดินของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถจะใช้หรือได้รับประโยชน์จากที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นได้โดยสะดวกทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายในการใช้ที่ดินของโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ กรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 และ 1337 การที่จำเลยทั้งห้าปลูกบ้านอยู่ก่อนโจทก์ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ผู้มาทีหลังต้องเสียสิทธิดังกล่าวไม่โจทก์จึงมีสิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือความเดือดร้อนให้สิ้นไปโดยฟ้องจำเลยทั้งห้าให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทั้งห้าปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของกรมชลประทานอันเป็นการกีดขวางทางที่โจทก์เข้าออกเพื่อใช้ประโยชน์ในคลองมหาสวัสดิ์ อันเป็นทางสาธารณะได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นพิพาทข้อนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะส่วนที่วินิจฉัยในข้อเท็จจริง ให้จำเลยทั้งห้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทั้งห้าปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของกรมชลประทานอันเป็นการกีดขวางทางที่โจทก์เข้าออกเพื่อใช้ประโยชน์ในคลองมหาสวัสดิ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share